
ตีงูให้หลังหัก
เมื่ออุศเรนพ่ายแพ้ในการรบ แต่พระอภัยมณีรำลึกถึงบุญคุณครั้งเก่า จึงให้ปล่อยตัวอุศเรน นางวาลีได้เตือนพระอภัยว่า
"ประเวณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเอาภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง แม้เสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะทำภายหลังยากลำบากครัน"
สุนทรภู่ได้เขียนกลอนบทนี้ไว้นานแล้ว และอาจจะนานจนคนรุ่นใหม่พากันลืมหมดแล้ว หรือไม่ได้ให้ความสนใจเพราะเห็นว่าเป็นของเก่าของโบราณ เราจึงได้เห็นการตีงูใหญ่ให้หลังหัก เมื่อ 3-4 ปีก่อน กระทั่งงูนั้นกลับมาอาละวาดได้อีกครั้ง
สิ่งที่ผมพูดถึงในวันนี้ ไม่ได้ต้องการจะเห็นรัฐใช้ความรุนแรงในการดำเนินการกับแกนนำ นปช.และคนเสื้อแดง แต่อยากเห็นความศักดิ์สิทธิ์ยุติธรรมของกฎหมายบ้านเมือง และการป้องกันแก้ไขมิให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะเราคงได้เห็นกันแล้วว่า
หากไม่สามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้เรียบร้อยลงได้ และปล่อยให้เป็นไฟสุมขอนอยู่ สักวันไฟก็จะลุกลามลวกไหม้สร้างความเสียหายได้อีก
สิ่งที่รัฐควรจะต้องทำ ถัดจากการใช้มาตรการทางกฎหมาย ก็คือการสมานจิตใจของคนไทยทุกสีทุกหมู่เหล่าให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ปราศจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และคลี่คลายทุกๆ ปัญหาที่ค้างคาอยู่ในใจคน ทำให้คนไทยมีแผ่นดินเดียว และมีศูนย์รวมดวงใจแห่งเดียวกัน เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาแต่เก่าก่อน
ผมเชื่อว่าการปฏิรูปใดๆ ไม่สามารถจะปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมได้เป็นอันขาด หากเราไม่เริ่มต้นจากการปฏิรูปจิตใจของคนในชาติ ให้มีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม และมโนธรรม เพราะคนที่มีธรรมะดังกล่าว ถ้าอยู่ในวัยที่เป็นเยาวชนก็เป็นเยาวชนที่ดี เมื่อถึงวัยทำงานประกอบอาชีพต่างๆ ก็เป็นพนักงาน คนงาน และข้าราชการที่ดี อยู่ในวงการเมืองก็เป็นนักการเมืองที่ดี อยู่ในวงการสื่อก็เป็นสื่อที่ดี และช่วงเวลาต่อไปนี้น่าจะเหมาะอย่างยิ่งกับการปฏิรูปจิตใจของคนในชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชาติไทยในยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปในด้านอื่นๆ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนไทยโดยทั่วไปคงตระหนักถึงความเสียหายที่ประเทศไทยของเราได้รับ และคงไม่มีคนไทยที่ปกติดีคนไหนต้องการที่จะเห็นสภาพการณ์เช่นนั้นอุบัติซ้ำ ซึ่งรัฐเองก็น่าจะมีบทบาทในการเร่งแก้ปัญหาต่างๆ แต่ต้นมือ โดยไม่ปล่อยให้ขยายวงและยืดเยื้อจนกลายเป็น "ศึกใหญ่" อย่างที่ผ่านมา
ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น เมื่อพระอภัยยึดมั่นในความสัมพันธ์ที่เคยมีมากับอุศเรน นางวาลีจึงอาสา
"จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการ"
และนางวาลีก็พูดจายั่วจนอุศเรนซึ่งมีนิสัยเย่อหยิ่งยโส เจ้าคิดเจ้าแค้น อกแตกตาย สุนทรภู่เขียนถึงตอนนี้ไว้ว่า
"เป็นวันพุธอุศเรนถึงเวรตาย ปีศาจร้ายร้องก้องท้องพระโรง"
ถึงวันนี้จะไม่มีนางวาลี แต่หลังการแตกทัพที่ราชประสงค์ก็อาจมีคนอย่างอุศเรนอกแตกตายได้เหมือนกันครับ