ข่าว

พฤษภาทมิฬอันเป็นนิรันดร์

พฤษภาทมิฬอันเป็นนิรันดร์

18 พ.ค. 2553

หลายวันก่อนผมได้มีโอกาสพบบุคคลอันเป็นตำนานของขบวนการนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยท่านหนึ่ง ในงานบันทึกเทปรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง

ในช่วงที่เรารับประทานอาหารกันก่อนแยกย้ายกลับบ้าน เราก็ได้มีโอกาสชมการรายงานข่าวการกระชับพื้นที่ของทางรัฐบาลผ่านช่องโทรทัศน์ช่องหนึ่ง

 บุคคลอันเป็นตำนานท่านนี้กล่าวกับผมว่า "ผมเห็นภาพแบบนี้มาตั้งแต่ตอนที่ผมอายุน้อยกว่าคุณอีก ผมก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าทำไมเรื่องแบบนี้ยังเกิดขึ้นได้อีก"

 เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ผมเองก็ยังรู้สึกเช่นเดียวกับบุคคลในตำนานท่านนี้ เพราะว่าผมเองก็เห็นภาพเช่นนี้มาตั้งแต่ตอนที่ผมอายุน้อยกว่านี้เช่นกัน และผมก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าทำไมเรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นได้อีก

 ถ้าบุคคลในตำนานท่านนี้พูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน ผมก็หมายถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนนั่นแหละครับ

 แต่เรื่องที่น่าเศร้าใจนั้นอยู่ที่ว่า ถ้ามองกันในภาพยาวๆ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 17 พฤษภาคม 35 สังคมไทยได้หลักยึดบางประการที่ทำให้เห็นความก้าวหน้าทางการเมือง แต่มาจนถึงวันนี้ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ได้อะไรที่ก้าวหน้ามากนัก บนความเชื่อที่ว่าต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับคนที่ไม่เชื่อฟังรัฐบาล โดยเฉพาะการไม่เชื่อฟังรัฐบาลที่ออกกฎหมายที่ทำให้หลักการของรัฐธรรมนูญต้องถูกลดทอนลง และการไม่เชื่อฟังรัฐบาลนั้นทำให้ถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของรัฐและชาติ

 ผมไม่อยากจะจดจำว่า หลัง 14 ตุลา 16 มี 6 ตุลา 19 หลัง 17 พฤษภาคม    35 มี 14 พฤษภาคม 53

 มันทำให้คำสั่งสอนของอาจารย์อีกท่านหนึ่งของผมชัดเจนขึ้น เมื่อท่านเคยกล่าวว่า อย่าไปเชื่อว่าสังคมนั้นมันจะพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้าในท้ายที่สุด แต่ควรมองว่าสังคมอาจจะมีทิศทางการพัฒนาเหมือนขดลวดสปริงที่ชำรุดที่ยุ่งเหยิงและไม่ได้มุ่งไปข้างหน้า

 ผมจำได้ว่า เมื่อหลัง 17 พฤษภาคม 35 เรามีความเชื่อว่าความรุนแรงของรัฐที่ปราบประชาชนนั้นมีสาเหตุมาจากการปิดกั้นสื่อ เราจึงเรียกร้องที่มีจะสื่อสาธารณะ โดยลึกๆ เราเชื่อว่าสื่อสาธารณะจะเป็นหลักยึดเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง และจะต้องปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ

 เราผ่านมาเกือบยี่สิบปี เรามีสื่อสาธารณะที่ใช้เวลามากมายจนถึงระดับต้องพึ่งพาระบอบหลังการรัฐประหารกว่าจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงของทุนและรัฐของนายทุน แต่ก็กลายเป็นสื่อที่ทำหน้าที่เป็นเวทีสั่งสอนประชาชนให้มองภาพยาวๆ และมองภาพโครงสร้างที่เอ็นจีโอกำหนดให้

 สังคมนี้มีวิกฤติทางการเมืองที่เป็นที่มาของการสร้างสื่อสาธารณะพอที่จะงดรายการที่ทำอยู่แล้วใช้เวลา 24 ชั่วโมงในการแก้ปัญหาความสูญเสียของทุกฝ่ายหรือยังครับ?

 และจนถึงวันนี้ สื่ออื่นๆ ที่ยังอยู่รอดโดยไม่ถูกแทรกแซงหรือถูกปิดโดยอำเภอใจจากรัฐบาลภายใต้กฎหมายพิเศษนั้นคิดได้หรือยังว่า กฎหมายนั้นคือกฎหมายที่ใช้ปิดสื่อภาคประชาชนต่างๆ ที่เห็นต่างกับรัฐบาลไปแล้ว

 ผมไม่มีศรัทธาในสื่อสาธารณะที่มีลักษณะหนึ่งเดียว รวมศูนย์ และสร้างลำดับชั้นของภาคประชาสังคมอีกต่อไป แต่ผมมีศรัทธากับสื่อสาธารณะในความหมายกว้าง คือการส่งเสริมให้สื่อสาธารณะมีความหลากหลาย และการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบสื่อมวลชนอย่างเป็นธรรม คือให้มีการฟ้องร้องและต่อสู้คดีได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่รัฐถืออำนาจปิดได้ตามอำเภอใจ

 อย่าให้ถึงขั้นที่เรามีพลเมืองดีที่มีความเข้าใจปัญหาสังคมในระดับโครงสร้างแต่มองไม่เห็นความตายที่อยู่ตรงหน้าเลยครับ