ข่าว

เรื่องเล่าจากเทือกเขาบูโด

เรื่องเล่าจากเทือกเขาบูโด

07 พ.ค. 2553

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมากว่าสี่ชั่วอายุคน มักจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทือกเขาแห่งนี้อยู่เนืองๆ ภูเขาบูโดเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี ที่มีความยาวตลอดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบางพื้นที่พาดผ่านอำเภอต่างๆ

 ทางทิศตะวันตกของ จ.สงขลา จรดยันไปถึงสุดชายแดนหลายอำเภอเช่นที่ อ.เบตง ธารโต บันนังสตา ยะหา รามัน จ.ยะลา และหลายอำเภอใน จ.นราธิวาส อาทิ อ.เมือง บาเจาะ ยี่งอ สุไหงโก-ลก แว้ง สุคีริน ตลอดจนใน อ.มายอ ทุ่งยางแดง สายบุรี กะพ้อ จ.ปัตตานี และมีอีกหลายจุดหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เทือกเขานี้จะเป็นกำแพงกั้นระหว่างประเทศไทยที่อยู่ทางตะวันออกและประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก

 หากเราจะพิจารณาดูว่าเส้นทางถนนสัญจรของคนในพื้นที่ก็มีมากมาย (แทบจะเรียกได้ว่ามากกว่าเส้นใยแมงมุมเสียอีก) เช่นเส้นทางที่ 4106 จากปัตตานีถึง อ.เบตง เส้นทางสายเอเชียที่ 42 จากปัตตานี ไปนราธิวาสและเชื่อมต่อด้วยสายที่ 4056, 4057, 4058, 4062, 4084 ฯลฯ ไม่นับรวมสายระหว่างตำบลและอำเภออีกมากมายที่มุ่งไปสู่ชายแดนประเทศมาเลเซียที่ อ.ตากใบ สุไหงโก-ลก แว้ง และ อ.สุคีริน ของ จ.นราธิวาส มีเพียงปัตตานีจังหวัดเดียวที่ไม่มีเขตแดนกับประเทศมาเลเซีย

 ที่น่าสนใจคือเทือกเขาเหล่านี้ในรอบสามสี่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมามีเรื่องราวมากมายที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์แห่งทรัพยากรธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ทรัพย์ในดินสินในน้ำมีมหาศาล ถ้าจะไล่เรียงกันตั้งแต่ยุคนครรัฐที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมืองมีเจ้ามีกษัตริย์ปกบ้านครองเมืองที่ชัดเจนตั้งแต่อาณาจักรมลายูลังกาสุกะเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 8 คือมีการบันทึกว่า ณ เชิงเขา(สันกาลาคีรี)นั้นมีบ้านเรียงรายเหมือนมด คือการเห็นเมืองปาตานีจากอ่าวไทยซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำปัตตานีปัจจุบัน นับจากนั้นมามีเรื่องราวของเมืองหลวงอย่างกรือเซะ ของนครรัฐปาตานีดารุสซาลาม ที่ผูกแน่นกับการอพยพของบรรดาปราชญ์สำคัญทางศาสนาสมัยหนีภัยคุกคามจากกองกำลังทางเหนือไปอาศัยที่ชายเขาบูโดคือบ้านตะโละมาเนาะ มีมัสยิดสร้างด้วยไม้ตะคียนทองโดยใช้สลักไม้แทนตะปูทั้งหลัง สวยงามและน่าศึกษาในความเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี ปัจจุบันหลักฐานเหล่านี้ยังคงมีชีวิตและใช้ประโยชน์ตั้งอยู่ใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

 สิ่งที่ไม่อาจจะลืมได้ว่า ณ เทือกเขาแห่งนี้เป็นที่มาของคำว่า “ชุมชนโบราณบ้านบาลาฮาลา” ที่บรรพบุรุษได้หนีการรุกรานของทหารฝ่ายเหนือเฉกเช่นคนมลายูปาตานีเข้าไปในป่าลึกของต้นทางแม่น้ำปัตตานี สืบสานมาถึงหลานเหลนโหลนแต่ต้องมาทิ้งบ้านทิ้งเรือนอีกครั้งเมื่อยุคเผาบ้านเผาชุมชนเพื่อความมั่นคงของรัฐตามแนวคิดการแก้ไขปัญหาจีนคอมมิวนิสต์มลายา และไม่ควรมองข้ามเรื่องของสิ่งที่มีค่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้นึกถึงความรุ่งเรืองยุคขุดทองที่เหมืองโต๊ะโม๊ะ ปัจจุบันอยู่ใน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เรื่องการอพยพโยกย้ายประชาชนคนอีสานมาอาศัยในนิคมสร้างตนเองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คิดตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และมาปฏิบัติจริงในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเพิ่มจำนวนคนพุทธในพื้นที่และสร้างเสริมความเข้มแข็งของลัทธิชาตินิยมโดยผ่านรูปแบบการผสมกลมกลืนซึ่งที่แท้จริงคือการทำลายความเข้มแข็งของชุมชนคนท้องถิ่น

 จนเกิดเรื่องราวต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่นั้นมาที่สร้างความเจ็บปวดและซ้ำซากต่อคนท้องถิ่น อาทิ บังคับให้หยุดสอนศาสนาอิสลาม หยุดพูดและหยุดสอนภาษาท้องถิ่นมลายูในโรงเรียนของรัฐ เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามทั้งชื่อคนชื่อถิ่นที่อยู่อาศัยให้เป็นภาษาไทย ผู้คนทั่วไปผู้นำศาสนาถูกจับ หายตัว ประชาชนที่บ้านดุซงญอ (อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) กลายเป็นกบฏถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ที่หนีเอาตัวรอดเตลิดเปิดเปิงข้ามฝั่งไปประเทศมลายาก็ไม่น้อย ลูกหลานที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันขวัญผวาตลอดเวลาเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่รัฐ อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะคือรูปปั้นกระสุนปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้ตอกย้ำความต่างของความหมายระหว่างประชาชนคนท้องถิ่นกับของราชการ เส้นทางความเลวร้ายของชุมชนท้องถิ่นมีมาและเป็นไปอย่างยาวนานตั้งแต่การสลายของนครรัฐจวบจนปัจจุบัน

 เขาที่สูงตระหง่านแห่งบูโดได้หยิบดาวใส่เดือนมาติดบนบ่าบนไหล่แก่กลไกรัฐหลากสีมามากมาย แต่มีบ้างไหมที่จะไปคิดสักนิดว่าเบื้องหลังของความสำเร็จเหล่านั้น ฐานล่างคือเลือดเนื้อและกองซากศพที่ทับถมของพลเมืองไทยที่ไม่เพียงแต่คิดต่างกับรัฐ หากมีคนบริสุทธิ์อีกมากมายที่เป็นเหยื่อ เมื่อใดเล่า...กลไกรัฐจะมองเห็นยอดเขาที่สูงตระหง่านคือความแข็งแกร่งของฐานรากที่มีสิ่งมีชีวิตและจิตใจอีกนับเรือนล้านและความงามสง่าของท้องถิ่นที่สูงคุณค่ากว่าคำใดๆ ที่จะมาเปรียบเปรยได้

อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
[email protected]