
"ภูเรือ"มีนิทานท้องถิ่น เป็นประวัติศาสตร์สังคม
พายุฤดูร้อนที่พัดกระหน่ำบ้านเรือนถนนหนทางในเขตภาคเหนือและอีสาน รวมไปถึงใน จ.เลย ที่ล่าสุดถูกพายุถล่มบ้านเรือนราษฎรเสียหายสาหัสและถนนสายเลย-ภูเรือ
จ.เลย เป็นที่ตั้งของภูเรือ หรืออุทยานแห่งชาติภูเรือ ในเขต ต.หนองบัว อ.ภูเรือ และ อ.ท่าลี่ จ.เลย ชื่อ “ภูเรือ” มาจากลักษณะของภูเขาซึ่งมีผาชะโงกยื่นออกมาคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่ โดยที่ราบบนเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือ
เชื่อกันว่า ภูเรือ เดิมชื่อ ภูทุ่งหรือภูท่ง เพราะว่ากันว่าเคยมีเมืองภูทุ่งตั้งอยู่บนภูเขาแห่งนี้ ถัดไปเป็นภูเขาอีกสองลูกคือ ภูคั่งหรือภูครั่ง และภูหินฮ่องกล้าหรือภูหินร่องกล้า ซึ่งต่างมีเมืองอยู่บนภูเขาเช่นกัน ทุกวันนี้เมืองภูทุ่ง เมืองภูคั่ง และเมืองภูหินร่องกล้าเป็นเมืองร้างมานานแล้ว มีนิทานตำนานท้องถิ่นที่คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาว่า
เจ้าเมืองภูทุ่งมีธิดาสาวสวยองค์หนึ่งมีความงามเป็นที่เลื่องลือ โอรสรูปงามแห่งเมืองภูคั่งได้มาพบธิดาเมืองภูทุ่ง แล้วเกิดความรักใครชอบพอกัน เจ้าชายเมืองภูคั่งเสด็จกลับเมืองเพื่อทูลขอพระบิดาให้มาสู่ขอเจ้าหญิง การอภิเษกถูกกำหนดเตรียมพร้อมขบวนขันหมาก
อีกด้านหนึ่งเจ้าชายแห่งภูหินร่องกล้า ที่หลงรักเจ้าหญิงภูทุ่งเช่นกัน เมื่อทราบข่าวการแต่งงาน ก็ทูลขอร้องบิดาให้ฉุดคร่าเจ้าหญิงก่อนถึงพิธีอภิเษก
ในวันอภิเษกเจ้าหญิงก็ถูกเจ้าชายเมืองภูหินร่องกล้าฉุดไป เมื่อเจ้าชายเมืองภูคั่งทราบเรื่อง ก็โกรธเคืองและผิดหวังจึงทำลายขบวนขันหมากที่นำมา ข้าวของต่างๆ ก็กระจัดกระจายกลายเป็นก้อนโขดหินต่างๆ เป็น “ลานหินพานขันหมาก”
แม้ไม่เคยพบหลักฐานบ้านเมืองบนภูเรือ อย่างน้อยคำอธิบายท้องถิ่น ก็ผูกโยงภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเข้ากับพื้นฐานความคิดของผู้คนพื้นเมือง เป็นประวัติศาสตร์ที่รอการสืบค้นด้านวิชาการอื่นๆ เพิ่มเติม
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"