
สงกรานต์...ตายไม่ถึงเป้า"ไร้เงาโจร" ..โครงการฝากบ้าน ตร.
เทศกาลสงกรานต์ผ่านไปแล้ว ทิ้งเรื่องราวมากมายไว้เบื้องหลังให้ผู้คนได้จารึกไว้ในความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองกับความสูญเสียบริเวณสี่แยกคอกวัว เรื่องอุบัติเหตุและผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายจากการเดินทาง รวมถึงเรื่องโครงการฝากบ้านกับตำรวจ ที่มาพร้อมๆ กับเทศ
พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่คลุกคลีกับโครงการนี้มาตั้งแต่แรก เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติงานตามโครงการข้างต้นว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีประชาชนฝากบ้านกับตำรวจมากขึ้น ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จและเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่องของโครงการและเรื่องความไว้วางใจจากประชาชน
สงกรานต์ปีนี้มีประชาชนคนเมืองหลวงและปริมณฑลฝากบ้านไว้กับตำรวจ รวม 2,260 หลัง ในจำนวนนี้เป็นบ้านในกรุงเทพฯ 1,636 หลัง และในจังหวัดปริมณฑลอีก 624 หลัง
ในกรุงเทพฯ นั้น สน.โชคชัย มีประชาชนฝากบ้านไว้มากที่สุด 86 หลัง รองลงมาได้แก่ สน.คันนายาว 69 หลัง สน.บางเขน 67 หลัง สน.บางชัน 58 หลัง สน.บางนา 57 หลัง สน.ดอนเมือง 56 หลัง สน.หัวหมาก 55 หลัง สน.โคกคราม 47 หลัง สน.บึงกุ่ม 46 หลัง สน.ตลิ่งชัน 41 หลัง และ สน.ธรรมศาลา 40 หลัง
ส่วนในเขตปริมณฑลที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ บช.ภ.1 บช.ภ.2 และ บช.ภ.7 พบว่าจังหวัดที่มีประชาชนฝากบ้านมากที่สุด ได้แก่ จ.นนทบุรี 208 หลัง จ.สมุทรปราการ 127 หลัง จ.สมุทรสาคร 46 หลัง จ.ลพบุรี 42 หลัง และ จ.นครปฐม 40 หลัง
จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่ประชาชนเข้าร่วมโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามเขตชานเมือง ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด และยังคงประสบกับปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายวันในทุกรูปแบบ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
จากเหตุผลข้างต้นสอดคล้องกับหัวใจสำคัญของโครงการฝากบ้านกับตำรวจ คือ การมุ่งแก้ปัญหาคดีโจรกรรมทรัพย์สินในเคหสถาน ที่ปรากฏเป็นสถิติชัดเจนว่า หลังวันหยุดยาวในทุกเทศกาล เจ้าของบ้านที่ทิ้งบ้านไว้มักจะถูกคนร้ายเข้าโจรกรรมทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก และผู้ที่ถูกตำหนิมากที่สุดก็คือตำรวจท้องที่ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นเรื่องยากต่อการป้องกัน และยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับการติดตามจับกุมตัวคนร้าย ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
"การดำเนินการตามโครงการนี้จึงเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านที่จำเป็นต้องทิ้งบ้านไว้โดยไม่มีคนเฝ้า สามารถฝากบ้านไว้กับตำรวจได้ อย่างน้อยที่สุด ตำรวจก็จะได้รู้ว่าบ้านไหนไม่มีคนอยู่ จะต้องจัดกำลังออกตรวจตราระมัดระวังอย่างไร เป็นการตัดโอกาสคนร้ายที่คิดจะลงมือกระทำการกับบ้านที่ไม่มีคนอยู่ และแม้ตำรวจจะไม่ได้รับรองว่าจะไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น แต่การฝากบ้านไว้กับตำรวจก็เป็นการสร้างความมั่นใจและสบายใจให้แก่เจ้าของบ้านมากขึ้น" พล.ต.ท.พงศพัศกล่าว
สำหรับยุทธศาสตร์ดำเนินการเฝ้าระวังและลาดตระเวนตรวจตราบ้านทุกหลังที่เข้าร่วมโครงการนั้น นอกจากจะใช้กำลังท้องที่เป็นหลักแล้ว ยังมีนักเรียนนายร้อยอบรมสายป้องกันปราบปรามอาชญากรรม 100 นาย ที่กำลังฝึกอบรมอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจออกมาร่วมปฏิบัติงานกับตำรวจท้องที่ด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากตำรวจนครบาลต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน จึงนำนักเรียนนายร้อยอบรมสายงานป้องกันปราบปรามเข้ามาเสริม
"เป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและของตำรวจทุกคน ที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญ คือ การดูบ้านและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนที่ไว้วางใจฝากบ้านไว้กับตำรวจ เป็นเรื่องของจิตอาสาที่ตำรวจได้แสดงความจำนงเข้าไปดูแลเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนและมีความกังวลใจ โดยเฉพาะการที่จะต้องทิ้งบ้านไว้โดยไม่มีคนเฝ้า ตำรวจจึงอาสาเข้าไปดูแลให้ เพื่อให้คลายกังวล และปีนี้บ้านที่เข้าโครงการไม่มีเหตุแม้แต่หลังเดียว" โฆษก สตช.กล่าว
จากผลการปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้บ้านทุกหลังที่เข้าร่วมโครงการปลอดภัย สมกับที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจ ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรี และจิตอาสาของตำรวจทุกนาย ที่พร้อมจะดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
ทั้งในยามสงบและในยามที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายอย่างทุกวันนี้ จนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร !?!
นอกจากโครงการฝากบ้านกับตำรวจช่วงสงกรานต์จะประสบความสำเร็จแล้ว เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-18 เมษายน 2553 ก็ถือว่าบรรลุเป้าประสงค์เช่นเดียวกัน แม้ว่ายอดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจะยังมีอยู่จำนวนมาก แต่ก็ถือว่าน้อยลงกว่าปีก่อนๆ แม้จะเพียงไม่กี่ชีวิตก็ตาม
7 วันอันตรายสงกรานต์ปีนี้ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 3,516 ครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 461 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 361 คน น้อยกว่าปีที่แล้ว 12 คน และผู้บาดเจ็บรวม 3,802 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 530 คน
สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 142 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 18 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 159 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน มี 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สุโขทัย และยะลา