ข่าว

กกท.ปรับกีฬาชาติต้องรับใช้บ้านเกิด

กกท.ปรับกีฬาชาติต้องรับใช้บ้านเกิด

16 เม.ย. 2553

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมยกเครื่องกีฬาแห่งชาติ และกีฬาเยาวชนแห่งชาติอีกครั้งให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนนักกีฬาประเภทบุคคลต้องเล่นให้ในนามจังหวัดที่เกิดเท่านั้น ส่วนการคัดเลือกกีฬาประเภททีม ต้องเข้มข้น ไม่ใช่แพ้ชนะกัน ร้อยกว่าคะแนน เหมือน

 “บิ๊กหนุ่ม” นายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า สัปดาห์แรกหลังจากเทศกาลสงกรานต์จะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา และฝ่ายกีฬาภูมิภาค เพื่อหารือถึงแนวทางในการปรับปรุงระบบการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และกีฬาเยาวชนแห่งชาติใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการแข่งขันให้มีความเป็นสากล และพัฒนาการกีฬาของชาติได้อย่างแท้จริง

 ทั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ จะได้ร่วมพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องคุณสมบัติของนักกีฬา โดยจากเดิมที่เคยให้ขึ้นทะเบียนได้จาก จังหวัดที่เกิด สถานที่ศึกษา หรือสถานที่ประกอบอาชีพ ต่อไปในกีฬาบุคคลจะกำหนดให้ขึ้นทะเบียนลงแข่งขันได้เฉพาะในนามจังหวัดที่เกิดเท่านั้น ส่วนกีฬาประเภททีมจะอนุโลมเพิ่มให้ในเรื่องสถานศึกษา เพื่อให้รวมทีมกันได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันกับกรุงเทพหานคร ที่เป็นเจ้าเหรียญทองได้

 “บิ๊กหนุ่ม” กล่าวอีกว่า การเสนอปรับรูปแบบไม่ใช่มองแค่การป้องกันการดึงตัวนักกีฬาไปเล่นให้จังหวัดใหญ่ แต่เพื่อให้แต่ละจังหวัดให้ความสำคัญในการดูแลนักกีฬาของตน โดยสมาคมกีฬาจังหวัด และคณะกรรมการกีฬาจังหวัด ต้องดูแลนักกีฬาตนเอง ต้องมีเบี้ยเลี้ยง โค้ชต้องเอาใจใส่ ต้องสร้างให้นักกีฬาภูมิใจในการเล่นให้บ้านเกิดของตนให้ได้ ส่วนที่นักกีฬาอาจมองว่า แนวทางนี้จะทำให้เสียประโยชน์ เพราะเกรงว่าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ นั้น กกท.เป็นผู้ออกค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางในช่วงการแข่งขันให้อยู่แล้ว และต่อไปจะมีการเบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น เพราะสามารถเบิกจ่ายจาก กกท. ไปยัง กกท.ระดับภาค และไปยัง กกท.จังหวัด ได้ก่อนแข่งด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่เดินทางมาถึงสถานที่แข่งขันจึงจะได้รับ

 ผู้ว่าการ กกท.กล่าวในตอนท้ายว่า มาตรฐานของกีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาแห่งชาติจะต้องสูงขึ้น อย่างในการแข่งขันรักบี้ฟุตบอล ในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 26 “มะขามหวานเกมส์” ที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ชนะกันขาดลอย 111-0 ทั้งที่เป็นการแข่งขันในรอบสุดท้าย เป็นเรื่องที่ตนรับไม่ได้ ดังนั้น จะเข้มงวดกับมาตรฐานการแข่งขันมากขึ้น โดยจะดูตั้งแต่รอบคัดเลือกในระดับภาค และหากต้องปรับลดจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายก็ต้องทำ โดยจากเดิม 16 ทีมที่มากเกินไปและมาตรฐานห่างชั้น อาจกำหนดให้เหลือเพียง 10 หรือ 12 ทีม