ข่าว

กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์

กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์

16 เม.ย. 2553

วันก่อนผมเปิดหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ.2511 พบข้อความบางตอนที่ท่านผู้วายชนม์เขียนถึง “กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์” ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอนำมาให้ได้อ่านกัน

คุณควงฯ เขียนไว้ว่า

 “เมื่อคุณเสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตกรุงวอชิงตัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายทวี บุณยเกตุ และเมื่อได้จัดการทำสัญญาสมบูรณ์แบบกับฝ่ายอังกฤษอเมริกา เรียบร้อยแล้ว  ก็ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ในขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีความปรารถนาที่จะให้นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงคราวเลือกนายกในสภาฯ เข้า คะแนนเสียงของสมาชิกทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ส่วนใหญ่มาเลือกข้าพเจ้าเป็นนายก ซึ่งยังความไม่พอใจแก่นายปรีดีและพวกเป็นอย่างมาก แต่นายปรีดีก็มิได้แสดงออกมานอกหน้า ในสภาเวลานั้นมีการเสนอกฎหมายอย่างมากมาย ในจำนวนกฎหมายทั้งหมดที่เสนอนั้น มีกฎหมายปิดป้ายแจ้งราคาสิ่งของ เสนอโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งต่อมาได้ถูกขนานนามว่า “กฎหมายปิดป้ายข้าวเหนียว”

 กฎหมายฉบับนี้ของนายทองอินทร์ฯ ได้ร่างมาเมื่อสมัยได้เป็นรัฐมนตรีร่วมกับข้าพเจ้าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณารอบคอบแล้ว เห็นว่าไม่มีประโยชน์แก่ประชาราษฎรอย่างใด แต่กลับจะทำความยุ่งยากให้มากกว่า โดยเฉพาะทางด้านหัวเมือง และนายทองอินทร์ก็ได้ยอมจำนนต่อเหตุผลในครั้งกระนั้น เมื่อมาถึงครั้งที่กล่าวนี้ นายทองอินทร์ในนามของพรรคสหชีพกลับเสนอมาใหม่ รัฐบาลข้าพเจ้าได้แพ้คะแนนในขั้นรับหลักการของกฎหมายฉบับนั้น 2 คะแนน ข้าพเจ้าและคณะก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง

 ขณะนั้นมีสมาชิกสภาฯ หลายนาย ได้ประชุมปรึกษากันจัดตั้งพรรคขึ้น มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายเลียง ไชยกาล นายปริญญา จุฑามาศ นายสุวิช พันธเศรษฐ์ นายโชติ คุ้มพันธุ์ นายชวลิต อภัยวงศ์ นายอินฑูร วรกุล นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรค โดย "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" เอา "พรรคก้าวหน้า" ของตน มารวมกับ "พรรคประชาธิปไตย" ของ "ดร.โชติ คุ้มพันธุ์" แล้วให้ชื่อว่า “พรรคประชาธิปัตย์” เมื่อได้ร่างข้อบังคับกันขึ้นเรียบร้อยแล้วจึงได้พากันมาหาข้าพเจ้าที่บ้านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงเหตุผลและขอร้องให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่ง "หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"

 ข้าพเจ้าเองในครั้งนั้นยังไม่เลื่อมใสระบบพรรคการเมืองนัก เพราะเห็นว่าสมาชิกสภาก็ดี ประชาชนก็ดี ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในระบบนี้ เกรงว่ามีระบบพรรคกันไปแล้วจะยังความไม่ราบรื่นในสภา แต่เมื่อได้มีการตั้งพรรคการเมืองกันไปบ้างแล้ว เช่นพรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นต้น กับทั้งกลุ่มนี้มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่จะตั้งพรรคขึ้นจริงๆ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นผู้มีความรู้และคงแก่เรียนกันดี ข้าพเจ้าจึงตกลงใจรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การประชุมครั้งแรกเราได้ตกลงยืมห้องชั้นล่างตำหนักของพระนางสุวัฒนาฯ เป็นที่ประชุม โดยที่ท่านเจ้าของตำหนักเสด็จไปประทับในต่างประเทศแล้ว นี่คือประวัติย่อๆ ของการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ”

 พรรคประชาธิปัตย์ ถือกำเนิด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 โดยมี "นายควง อภัยวงศ์" เป็นหัวหน้าพรรค และ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก จากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ มีหัวหน้าพรรครวม 7 คน ในจำนวนนี้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการพรรค" มี อาทิ นายธรรมนูญ เทียนเงิน นายมารุต บุนนาค นายเล็ก นานา นายวีระ มุสิกพงศ์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์

 ครับ นั่นคือเรื่องราวของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย?