ข่าว

‘มัลลิกา’ แนะ ‘พิธา’ ถอดม.112 ‘โหวตเลือกนายกฯ’ ง่ายขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'มัลลิกา' อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แนะ ‘พิธา’ ปลดล็อคด้วยตนเอง ถอดเรื่องแก้ไข-ยกเลิกม.112 ออกไป จะทำให้การ ‘โหวตเลือกนายกฯ’ ง่ายขึ้น พร้อมกางร่างฉบับก้าวไกล เจตนายกเลิกชัด!!

ดร.มัลลิกา บุญมีตระะกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชนwww.mallikafoundation.net ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและการหาเสียงต่อว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (สว.)เพื่อโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นดูจะไม่ราบรื่น หากนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ถอดนโยบายเรื่องการปฏิรูปสถาบันโดยผ่านการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 อันเป็นการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการคุ้มครององค์พระประมุขของประเทศออกไป

 

“เพราะจากการที่สอบถาม สว.บางคนทราบว่าเงื่อนไขสำคัญคือติดขัดเรื่องนี้ เป็นสาระสำคัญหากนายพิธาและคณะปลดล็อคเรื่องนี้ออกไปก็เชื่อว่า สว.จะโหวตให้แล้วไปเดินหน้าเป็นนายกรัฐมนตรีจัดบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรีเข้ากุมอำนาจบริหารประเทศได้”ดร.มัลลิกา กล่าว

 

 

ในฐานะเป็นอดีตสส. ทราบว่านายพิธาและคณะจะไปผลักดันการแก้ไข ม.112 ในสภาฯหลังจากที่ได้เสนอค้างไว้ในสมัยที่แล้ว ซึ่งไม่สามารถบรรจุเป็นวาระได้เพราะประธานสภานายชวน หลีกภัย เห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งว่าขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

 

จากการตรวจทานเอกสารร่างกฏหมายโดยละเอียดจะเห็นชัดว่าการแก้ไขของพรรคก้าวไกลที่เสนอร่างฯไว้นั้นเป็นการยกเลิกการคุ้มครองสถาบันหลักของชาติโดยสิ้นเชิง มาตราที่เคยคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าด้วย ม.112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯมีโทษจำคุก 3-15 ปี ไม่มีปรับตรงนี้จะไม่มีอีกต่อไป แต่เขาจะเปลี่ยนเป็นมาตรา 135/5 หมิ่นในหลวงมีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และมาตรา135/6 หมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท"

ดร.มัลลิกา บุญมีตระะกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

 

"นัยยะสำคัญของกฎหมาย หากโทษน้อยก็จะเหมือนกับบุคคลทั่วไป คือในกฎหมายอาญานั้นที่สุดของคดีสามารถเป็นเพียงการรอลงอาญาไม่ต้องติดคุกจริงหรือเป็นเพียงการปรับเท่านั้น แปลตรงๆคือกฎหมายของคณะเขาเปิดกว้างให้หมิ่นในหลวง พระราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการได้โดยอาจไม่มีโทษ และในมาตรา 135/7 สามารถอ้างได้ คือ ถ้าวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะจะไม่มีความผิด มาตรา 135/8 ถ้าทำผิดหรือได้ดูหมิ่นไปแล้วแต่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรืออ้างได้ว่าเป็นความจริงและไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็ได้อันนี้ก็ไม่ต้องรับโทษ

 

มาตรา 135/9 เป็นความผิดอันยอมความได้ คือนำกฎหมายพิทักษ์องค์ประมุขออกจากหมวดความมั่นคงออกจากอาญาแผ่นดิน และผู้เสียหายก็ไม่ใช่ ในหลวง พระราชินี แต่ให้ถือว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายก็ให้ร้องทุกข์และเป็นคู่ความ แต่ในมาตรานี้ห้ามมีพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย(ห้ามลงชื่อ) ในฐานะคู่ความ คือตัดสิทธิไม่ให้ในหลวง พระราชินีซึ่งคือผู้เสียหายที่แท้จริงสู้คดี และมาตรา 198 ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการตัดสิน คดีหรือการขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลให้มีโทษปรับ 2 หมื่น-1.4 แสนบาท

 

ร่างฉบับแก้ไขของพวกเขาคือการให้พระมหากษัตริย์มีสถานะทางกฎหมายเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ดูหมิ่นไปแล้ว ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ และไม่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ขณะที่รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ แล้วถ้าละเมิดได้เช่นนี้จะแปลว่าอะไร ล่ะ” ดร.มัลลิกา กล่าว

 

ดร.มัลลิกา อธิบายว่าสาเหตุที่ สว.จำนวนมากอาจจะไม่โหวตให้หรือโหวตโน Vote No เพราะอำนาจหน้าที่ในการเป็น สว.ตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ คือ การกลั่นกรองกฎหมาย การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตรงนี้คือหน้าที่หลักของเขาและนี่ยังไม่นับกรณีคุณสมบัติเรื่องการถือหุ้นสื่อด้วย แล้วถ้ารวมถึงหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ คือ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

 

มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญดังเช่นต้อง“พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำคัญยิ่งคือมาตรา 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 กลับเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทยอีกครั้ง หลังการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง และอยู่ในขั้นตอนการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง 313 เสียง ซึ่งจะมีการแถลงในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. 2566

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ