วันที่ 21 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกำแพงประตูสวนดอก ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบจุดเกิดรอยร้าวอยู่ตรงประตูทางด้านทิศเหนือ ฝั่งคูเมืองด้านใน เป็นรอยแตกร้าวแนวตั้งจากบนถึงขอบด้านล่างยาวประมาณ 2 เมตร โดยรอยแตกร้าวห่างออกจากกันจนมองทะลุกำแพงได้ ทำให้ประชาชนในย่านดังกล่าว แสดงความกังวลหลังสังเกตเห็นรอยร้าวบนประตูสวนดอกซึ่งเป็นกำแพงโบราณ จะทรุดตัวหรือพังถล่มลงมาซ้ำรอยประตูช้างเผือกที่เคยพังถล่มลงมาเมื่อเดือน ก.ย. 65 หากฝนตกหนักสะสมอาจทำให้ดินเนื้อในกำแพงอิ่มตัวและเคลื่อนตัวถล่มลงมาได้ เสี่ยงอันตรายกับผู้ใช้รถเนื่องจากตัวกำแพงอยู่ชิดริมถนน
นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 7 มีการสำรวจแนวกำแพงโบราณและประตูเมืองมาโดยตลอด โดยพบรอยแตกร้าวบริเวณประตูสวนดอกเมื่อปีก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่เกิดอันตรายเนื่องจากมีแรงดันจากคันดินที่ช่วยพยุงไว้อยู่ ต่างกับประตูช้างเผือกที่พังเสียหายเนื่องจากไม่มีเนินดินช่วยพยุงไว้ แต่รอยแตกที่เกิดขึ้นกับประตูสวนดอก ในอนาคตอาจเป็นอันตรายได้หากเนินดินไม่สามารถพยุงไว้ได้อีก
ล่าสุด นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งกำชับให้เร่งตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไข โดยสำนักงานศิลปากรที่ 7 มีแผนที่จะเข้าบูรณะอยู่แล้ว หลังจากนี้จะเร่งประสานกับเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อบูรณาการทำงานในการเข้าเจาะเย็บและรัดดามเฝือกโดยเร็วที่สุด
สำหรับกำแพงเมืองเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยประตูเมืองเก่าแก่ 5 ประตูล้อมรอบสี่ทิศของเขตเมืองเก่าชั้นใน สร้างในสมัยพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เพื่อเป็นเมืองหลวงของดินแดนล้านนา ในปี พ.ศ.1839 หรือ 727 ปีก่อน โดย 5 ประตูเมือง ได้แก่ ประตูช้างเผือก ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูแสนปรุงหรือประตูสวนปรุง และ ประตูสวนดอก ทั้งหมดเป็นกำแพงเมืองชั้นใน มีการบูรณะในรัชสมัยของเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2361 และมีการบูรณะซ่อมแซมมาเป็นระยะ โดยประตูเมืองชั้นในเหล่านี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478
ข่าว – ภาพ : วสันต์ ปัญญาเรือน ผู้สื่อข่าวศูนย์เหนือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง