เชิญร่วมโหวต 'เห็นด้วยหรือไม่ สว.โหวตเลือกนายกฯ'
นักวิชาการ ร่วมสื่อ 9 สำนัก เชิญร่วมโหวต 'เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ สว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของ สส.' เริ่มหลังวันเลือกตั้ง 15 -18 พ.ค. นี้
เมื่อวันที่ 11พ.ค. นักวิชาการ ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และ นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายสื่อ 9 สำนัก ร่วมกันแถลงข่าวเปิดโหวตเสียงประชาชน "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" โดยเปิดด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด หลังวันเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ต. เวลา 12.00 น. ถึง 18 พ.ค. เวลา 12.00 น.
โดยนายปริญญา เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในอนาคต ได้ปรึกษาหารือให้ใช้วิธีลงคะแนนแบบ สส. ออกเสียงก่อน จึงตามด้วยสว. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภา กำหนดให้การลงคะแนนออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเปิดเผย เรียงตามลำดับพยัญชนะ คละกันทั้ง สส. และ สว. ซึ่งไม่ใช่ปัญหาว่า สว. จะไม่รู้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของ สส. เป็นอย่างไร เพราะในข้อบังคับกำหนดไว้ว่า การลงคะแนนสามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น ให้ สส.ทั้งหมดออกเสียงก่อน และจึงตามด้วย สว. ทั้งหมด เพื่อที่ สว.จะได้ทราบว่าเสียงข้างมากไปทางไหน
แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วง ถ้า สว. งดออกเสียงก็จะเกิดภาวะเลือกนายกฯไม่สำเร็จ จะเกิดการต่อรอง ซึ่ง สว. ไม่ควรถูกต่อรองใดๆ แล้วอาจเกิดการใช้วรรคสอง ของ ม.272 คือ สรรหาคนนอกบัญชีรายชื่อเป็นนายกฯ ได้ แต่ตนเชื่อว่า เราเห็นพัฒนาการการเมืองไทยแล้วว่า แม้ประชาชนจะเห็นต่างแต่ก็เคารพผลการเลือกตั้ง ไม่เคยมีการประท้วงผลเลือกตั้ง
นายพิชาย กล่าวว่า กกต.ชุดนี้ เป็นของ สว.ชุดปัจจุบัน ซึ่ง สว. ชุดนี้ก็มาจากคณะรัฐประหาร บังเอิญแกนนำคณะรัฐประหารก็มาตั้งการเมืองเสียเอง อดคิดไม่ได้ว่าพรรคการเมืองบางพรรคที่มีอดีตการนำรัฐประหารเป็นผู้นำ จะมีอิทธิพลทางอ้อมกลับกกต.และคณะ
โดยเหตุการณ์เลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 พ.ค. ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ชวนคิด
ซึ่งการทำงานของกกต. ทำให้คิดว่าเป็นการเบี่ยงเบน หลายครั้งตั้งแต่อดีตไม่ว่าจะเป็นการตีความข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดฉายเลเซอร์ยิ่งทำให้คนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกกต.
นอกจากนี้สังคมตั้งคำถามการพิมพ์บัตรเลือกตั้งของ กกต. โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่มีแต่หมายเลข ไม่มีชื่อ ไม่มีโลโก้พรรค ชวนให้สงสัยไม่สอดคล้องกับงบประมาณ ไม่อำนายความสะดวกให้ประชาชน ต้องจำชื่อจังหวัดหมายเลขเข้าไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน อาจกาผิด เมื่อไม่มีชื่อ ไม่มีบัตรอาจจะมีบัตรเลือกตั้งปลอมใส่เข้าไปได้ เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ซึ่งวันที่ 14 พ.ค.ต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
มองไม่เห็นถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นกลางของกกต.ระดับหน่วย ส่วนผู้บริหารจะรับทราบหรือไม่ ไม่ทราบ เช่น ข้อมูลผู้สมัครหายไป ไม่ปรากฎบนบอร์ดหน่วยเลือกตั้ง ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้เชื่อว่ามีเจตนาหรือบกพร่องโดยสุจริตทำให้ตนเชื่อว่าเป็นการจงใจ จนขณะนี้เกิดการล่ารายชื่อ ปลดกกต. หรือเรียกร้องให้เกิดการลงโทษ ซึ่งเป็นการไม่ไว้วางใจการทำงาน
ถ้ากกต.ทำหน้าที่แบบไร้ประสิทธิภาพไปจนถึงวันที่ 14 จะสร้างความโกลาหลให้กับสังคมไทยและนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยได้ เพราะผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งย่อมไม่พอใจกับการกระทำ ซึ่งหากสถานการณ์พัฒนาไปถึงความรุนแรง กกต.จะเป็นคนบาปของสังคมต้นเหตุที่ทำให้เกิดชนวนความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางสังคม
นายพิชาย กล่าวว่า ตนตั้งข้อสงสัยเรามีกกต.มา20 กว่าปีแล้ว มีกกต. ชุดแรกที่สังคมพอให้ความไว้วางใจแต่จากนั้นมีข้อสงสัยเรื่อยมา ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยคนที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งตนยังมีความหวังเห็นกกต.เปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ อันดับแรก กกต.ต้องสลัดหลุดจากบ่วงที่ผูกไว้กับผู้ที่แต่งตั้งตัวเอง บุญคุณอะไรต่างๆก็ให้จบไป ปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการของระบบที่ไร้ความชอบธรรม
กกต.ต้องจัดการการเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพขาดความเที่ยงธรรมความวุ่นวายสังคมก็เกิดขึ้นอาจจะทำให้กลุ่มทหารบางกลุ่มนายพลบางคนที่ฉวยโอกาสออกมาทำรัฐประหารได้ กกต.ก็จะถูกจารึกว่าเป็นต้นเหตุ ขณะเดียวกันหาก กกต.ทำหน้าที่มีประสิทธิภาพก็จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ได้รับความเชื่อถือทได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้วย
ด้าน นายธนพร กล่าวว่า ตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมา การเลือกตั้งสู้กันอย่างดุเดือด แม้จะปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนก็ยังให้ความสนใจ เพราะอาจจะเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่ายการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้มีการยิงปูพรมหลายพื้นที่มากกว่า 1 รอบ เกินกว่าที่ผ่านมา ขนาดกระสุนคงไม่ใช่ .22 แต่เป็นจรวด Harpoon ยิงข้ามทวีปและล็อกเป้าได้ เป็นปัจจัยให้คู่ต่อสู้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครกล้าบอกว่าจะชนะแน่ๆ
จนทำให้เกิดการ "แจกกล้วย" หลังการเลือกตั้งทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง สส.และสว. ดังนั้น เพื่อหยุดยั้งการเมืองแบบแจกกล้วย เราควรต้องส่งเสริมกติกาที่เป็นธรรมและถูกต้อง โดยเฉพาะบทบาทของผู้คุมกติกาที่ทำหน้าที่ได้ดี จึงจะไม่เกิดการใช้วิธีดังกล่าว
ด้านนายโอฬาร ระบุว่า การเปิดโหวตครั้งนี้ ต้องการส่งเสียงถึง สว. ให้เคารพเสียงประชาชน เนื่องจากมีสัญญาณนรก หรือสัญญาอำมหิต บางอย่างจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ไม่สมควรทำ แต่สามารถทำได้ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ ในเมื่อกลไกของคณะรัฐประหารกลายเป็นตัวแสดงหนึ่งของการเมือง และต้องการจะสืบทอดอำนาจต่อในระบบประชาธิปไตย ทำให้คนจำนวนมากคาดหวังว่าจะมีผลต่อกลุ่มคนที่จะเลือกนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน
ทั้งนี้อีกไม่กี่วัน สว.จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จึงขอเสนอเพิ่มเรื่องนี้เป็นวาระจร เป็นสัญญาประชาคม เพื่อคลายความกังวล เป็นแสงสว่างระบอบประชาธิปไตย
ด้านนายวันวิชิต กล่าวว่า กกต. ต้องเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง เช่นเดียวกับ สว. ไม่ควรให้ประชาชนต้องมีอคติต่อ สว. หรือ กกต. ว่าตกอยู่ในอาณัติของบางพรรคการเมือง และถูกตีตราว่าเป็นผู้สร้างความขัดแย้งในการเมืองไทย ต้องทำให้เห็นว่า คือ ผู้สร้างสันติภาพในการเมืองไม่ใช่ผู้สร้างสงคราม
สำหรับการเปิดโหวตของเครือข่ายนักวิชาการฯ และสื่อ เพื่อให้ สว. ฟังเสียงประชาชน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม โดยใช้เวลา 3 วัน ผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
- QR Code
- เว็บไซต์ https://peoplevoiceth.survey.fm/เสียงประชาชน-3