ข่าว

'ศาลปกครองสูงสุด' ยกฟ้องคดีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ศาลปกครองสูงสุด' ยกฟ้องคดีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ชี้เป็นไปตามรธน. ด้าน'อรรถวิชช์' เผยสร้างบรรทัดฐานใหม่ อนาคตกกต.แบ่งเขตได้ตามใจ

วันที่ 7 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องคดีที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) , นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.สกลนคร , นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสส.สุโขทัย และนายพัฒ  ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จากจ.สุโขทัย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ศาลให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน สส.1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของ กทม. จ.สกลนคร  และ จ.สุโขทัย ตาม ประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใน 3 พื้นที่ดังกล่าว มีจำนวนไม่มาก หรือ มีจำนวนไม่น้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน สส.1 คน จนเกินไป 

 

การที่ กกต. ออกประกาศ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 กทม. 33 เขต จ.สกลนคร 7เขต และ จ.สุโขทัย 4 เขต จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ เปิดเผยภายหลังคำพิพากษาว่า ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ครั้งนี้เห็นได้ชัดว่ากกต.สามารถใช้กำหนดระเบียบการแบ่งเขต ที่ใช้ตัวเลขแบ่งต้องมีความใกล้เคียงกัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กกต.ใช้เกณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ย สส. 1 คนต่อราษฎร ซึ่งศาลพิพากษาให้เห็นชัดว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของกกต. เรื่องการกำหนดค่าเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ กกต.สามารถทำได้ 

 

เท่ากับว่าในอนาคตข้างหน้าการลงพื้นที่ของสส.ทุกคน จะมีโอกาสถูกแบ่งพื้นที่ใหม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ของพรรคการเมือง แต่ก็แล้วแต่ว่ากกต.จะแบ่งแบบไหน

 

ส่วนจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายอรรถวิชช์ เชื่อว่าประชาชนจะสับสนว่าทำไมการเลือกตั้งเขต หรือแขวง ปนกับเขตใหม่ ซึ่งเหตุผลที่ตนได้นำเสนอกับศาลและกกต.ตนบอกว่า เขตเลือกตั้งทั้ง 33 เขตในกทม. มีแค่ 4 เขตเท่านั้นที่เหมือนเดิม และได้เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2554 - 2557 ที่เป็นระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบการเลือกตั้งเดียวกัน แต่คำพิพากษาวันนี้ ได้ไปเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นคนละระบบเลือกตั้ง ซึ่งเกณฑ์นี้กกต.ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น ในอนาคตกกต.เพียงไม่กี่ท่านสามารถกำหนดเขตอย่างไรก็ได้ตามที่เห็นควร โดยมีรูปแบบการแบ่งเขต 4 แบบ ที่กกต.เลือก แบบที่ 1 มีประชาชาชนเห็นด้วยกับรูปแบบนี้เพียงคนเดียว ขณะที่รูปแบบที่ 3 ที่ควรจะเป็นและคุ้นเคย มีประชาชนเห็นด้วยถึง 403 คน แต่สุดท้ายก็ออกตามที่กกต.เลือก แต่ถึงอย่างไรเราพร้อมสู้ทุกรูปแบบเพราะผู้สมัครของพรรคเราในเขตกทม.ก็ใหม่หมด 

 

นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า ตนมาร้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ไม่คิดว่าพรรคชาติพัฒนากล้า จะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอะไรในเรื่องนี้ แต่มันทำให้ระบบสส.ความเป็นผู้แทนเปลี่ยนแปลงไป

นายอรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ