
สารพันตำรวจ : "สวัสดีค่ะ 191 ยินดีรับใช้ค่ะ"
สุ้มเสียงเสนาะหูผิดแปลกไปจากเดิม น่าฟังจนอยากจะชวนคุย ถ้าไม่ติดว่าเรื่องที่จะแจ้งให้ทราบมันเป็น "เหตุด่วน เหตุร้าย" ?!!
พลันเสียงและม่านควันระเบิดปกคลุมพื้นที่ชั้นในยามประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ผิดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยามนั้นผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างระดมกดหมายเลข "191" สอบถามเข้ามายังกองกำกับการศูนย์รวมข่าว (ผ่านฟ้า : 191) สายแทบไหม้ !?!
ยังไม่รวมการแจ้งพบวัตถุต้องสงสัย สอบถามสภาพจราจรติดหนึบยามทัพเสื้อแดงเคลื่อนพล เรื่องสัพเพเหระ ครอบครัวยันเรื่องส่วนตัว ตลอดจนเรื่องขำไม่ออกของพวกมือบอน กลายเป็นงานแสนสาหัสของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า 15 ชีวิต กับภาระความรับผิดชอบโทรศัพท์ 60 คู่สาย มีผู้โทรแจ้งเหตุเข้ามาวันละกว่า 17,000 สาย
ยิ่งช่วงเสื้อแดงชุมนุมกินเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ยิ่งทบทวีมากจนแตะ 20,000 สาย แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์ผ่านฟ้ากลับถูกแบ่งไปช่วยราชการศูนย์รับแจ้งเหตุต่างๆ จนเหลือเจ้าหน้าที่ประจำเพียง 6-7 นายเท่านั้น พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. จึงสั่งให้ชุดปราบจลาจลหญิงทั้ง 2 กองร้อยที่สแตนบายอยู่ภายในกระทรวงศึกษาธิการ หมุนเวียนมาช่วยงาน แถมยังช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ให้ "191" ที่มีแต่เจ้าหน้าที่ผู้ชายได้สดชื่นไปด้วย
...คอมพิวเตอร์ควบคุมของศูนย์ผ่านฟ้า โชว์ตัวเลขผู้โทรเข้ามาสายด่วน 191 ซึ่งจะตัดทุก 1 ชั่วโมง ล่าสุดยังไม่เต็มชั่วโมงดีมีผู้โทรศัพท์เข้ามา 800 กว่าสาย รับสายไปแล้ว 400 กว่าสาย รอไม่ไหววางสายก่อน 300 กว่าสาย หน้าจอยังแสดงการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคู่สายเต็ม 100 หมายความว่าเจ้าหน้าที่รับโทรศัทพ์ 1 รายจะใช้เวลารับสายเพียง 5-10 วินาทีเท่านั้น
"สวัสดีค่ะ ตำรวจ 191 ยินดีรับใช้ค่ะ" จ.ส.ต.หญิง สุดรักษ์ พูนวงศ์ จาก สน.สำเหร่ กรอกเสียงหวานๆ ไปยังปลายสาย
"191 จะประสานกับพื้นที่ให้เข้าไปตรวจสอบนะคะ" จ.ส.ต.หญิง สุดรักษ์ ตอบพร้อมกับจดรายละเอียดลงในแบบฟอร์มรับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ ก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่บันทึกอีกครั้ง
ด้าน ร.ต.ท.หญิง นพวรรณ พยัฆพรม จาก สน.บางยี่ขัน กำลังเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่ บอกว่า ตอนนี้บ้านเมืองกำลังมีวิกฤติหลายกรณี ประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนหลายอย่างจึงโทรแจ้งเข้ามา ทั้งเรื่องที่เป็นคดี ปัญหาส่วนตัว สัตว์ร้ายเข้าบ้าน น้ำท่วม รถติด ฯลฯ วันๆ ตก 17,000 สาย ทุกๆ วินาทีจะมีคนโทรศัพท์เข้ามาตลอด การทำงานส่วนนี้ต้องใช้เวลาเรียนรู้ระบบและอุปกรณ์ก่อน
"ตอนเป็นชุดปราบจลาจลหญิงทำหน้าที่ตรวจค้นผู้หญิง และปะทะกับม็อบผู้หญิงและเด็ก แต่ตอนนี้เหตุกาณ์ยังไม่รุนแรง เลยได้รับคำสั่งให้มาช่วยตรงส่วนนี้ ก็ได้เรียนรู้งานอีกแบบหนึ่ง" ร.ต.ท.หญิง นพวรรณ กล่าว
เช่นเดียวกับ จ.ส.ต.หญิง สุภัทรศรี เข็มกลัด จาก สน.บางพลัด พื้นที่สีแดงที่เกิดระเบิดบ่อยเป็นอันดับต้นๆ บอกว่า การมาช่วยงานศูนย์ผ่านฟ้าช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ๆ แต่ต้องใช้สมอง สองหู ประสาทสัมผัสทุกๆ อย่างรวมกัน จากที่นั่งดูงานมาหลายชั่วโมงก็พบว่า มีสายที่โทรเข้ามากวนเยอะมาก แจกกล้วยบ้าง ส่งพิชซ่าบ้าง บางทีโทรศัพท์มาก็พูดแค่ว่า ตำรวจเหรอค่ะ ฮิๆ แล้วก็วางไป
ทั้งนี้ ตำรวจ ปจ.หญิงที่มาช่วยงานศูนย์ผ่านฟ้ามาจากชุด ปจ.กองร้อยที่ 2 ประจำผลัดละ 12 นาย แบ่งการทำงานเป็น 3 ผลัดตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละผลัดจะทำงาน 1 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง
พ.ต.ท.ธัญญา ศรีวิรัญ รอง ผกก.ศูนย์รวมข่าว เสริมว่า บางทีก็มีโทรศัพท์ป่วนเข้ามาเยอะ โทรมาปรึกษาเรื่องส่วนตัวก็มี ก็ต้องครับๆ อย่างเดียว หากจะคุยยาวจะต่อสายให้คุยกับเจ้าหน้าที่อีกชุด เพื่อไม่เสียเวลาผู้ที่ต่อสายเข้ามาแจ้งเหตุร้ายจริงๆ
"แต่ละวันมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก เจ้าหน้าที่เราไม่พอ เพราะคนที่โทรแจ้งสายด่วน 1555 ก็จะโอนสายมาที่ 191 ด้วย ส่วนใหญ่ช่วงนี้จะสอบถามว่าม็อบเคลื่อนไปไหน ใช้เส้นทางไหนได้บ้าง บางทีก็โทรมารายงานม็อบเคลื่อนที่ผ่านจุดต่างๆ รวมๆ มีคนโทรมาสอบถามแจ้งเรื่องนี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ในวันม็อบเคลื่อน" พ.ต.ท.พิทักษ์ วรพฤกษ์ รอง ผกก.ศูนย์รวมข่าว กล่าวเสริม
ด้าน พ.ต.อ. สมนึก น้อยคง ผกก.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ บช.น.บอกว่า ช่วง 2 สัปดาห์นี้มีคนโทรมาแจ้งเรื่องระเบิด วัตถุต้องสงสัย และช่วงม็อบเคลื่อนเยอะมาก การได้ตำรวจหญิงมาช่วยงานเป็นเรื่องที่ดีมาก พวกเธอเก่ง มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอยู่แล้ว ที่สำคัญการมีผู้หญิงมารับโทรศัพท์ก็ช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น แต่ก็กลัวคนจะโทรมาจีบตำรวจหญิงเหมือนกันนะ (ฮา)
ปัญหาคนโทรป่วน ยังเป็นปัญหาหนักอก 191 อยู่เสมอ พ.ต.อ.สมนึก ยืนยันด้วยบันทึกการสนทนาปึกใหญ่ เช่น ช่วยด้วยๆ...ไฟไหม้หัวไม้ขีด, ตำรวจๆ ช่วยด้วยค่ะ...หนูเหงา, พบศพครับ...พบที่วัดพระกำลังสวดอยู่พอดี, คุณตำรวจมาเร็วมีคนยิงกัน...ในทีวี เมื่อตะกี้ได้ยินชัดไหม เป็นต้น
"อยากขอร้องว่า อย่าโทรเล่นกันเลย นาทีชีวิตมีค่า จะมาแค่ขอโทษไม่ได้" พ.ต.อ.สมนึก บังคับแกมขอร้อง !!