ข่าว

เปิด 'ค่าวิชาชีพทนายความ' มีค่า แถลงข่าว ค่าเสี่ยงภัย หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเงื่อนไข 'ค่าวิชาชีพทนายความ' เรทราคาอยู่ที่เท่าไร มีค่าแถลงข่าว ค่าเสี่ยงภัย หรือไม่ เสียภาษี อย่างไร เมื่ออาชีพ ทนายความ ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว

เป็นประเด็นร้อนถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ตั้งโต๊ะแถลงข่าว อ้างว่า รับเงินค่าแถลงข่าวจากลูกความ เป็น “ค่าวิชาชีพทนายความ” เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง จากการถูกฟ้องร้องคดีจากฝ่ายตรงข้าม โยงใยไปถึง ทนายนิด้า ที่ถูกพาดพิงถึง ว่ามีการเก็บค่าแถลงข่าว 350,000 บาท

 

 

จนเกิดเป็นคำถามว่า “ค่าวิชาชีพทนายความ” มีเงื่อนไขอย่างไร ต้องมีค่าเสี่ยงภัยด้วยหรือ รวมทั้ง มีการกำหนดเรทราคา และ ต้องเสียภาษี หรือไม่ ในขณะที่ก็มีข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ จะต้องประพฤติปฎิบัติตน และประกอบวิชาชีพตามข้อบังคับด้วย

 

ขอบคุณภาพจากเพจ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

ค่าวิชาชีพทนายความ

 

ทนายดนตร์ เกษมรัชดารักษ์ ทนายความ ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ว่า งานทนายความมีหลากหลาย ค่าปรึกษา ค่าทำคดี ถือว่าเป็น “ค่าวิชาชีพทนายความ” ส่วนค่าเสี่ยงภัยนั้น ไม่มี ยกเว้นอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

แต่โดยทั่วไปแล้ว สำนักงานทนายความทุกแห่ง จะไม่มีการกำหนดอัตราค่าทนายความที่แน่นอน ว่าจะเรียกเท่าไร เพราะในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป และเนื่องจากมี พ.ร.บ. ทนายความ ห้ามประกาศ หรือโฆษณาอัตราค่าจ้างว่าความ หากฝ่าฝืนก็จะผิดมรรยาททนายความ อาจถูกตักเตือน ถูกลงโทษ พัก หรือถอนจากการเป็นทนายความได้

 

ค่าวิชาชีพทนายความ ใช้หลักการใด

 

ก่อนที่จะคิดค่าทนายความได้นั้น ทนายจะต้องให้ตัวความเล่าข้อเท็จจริงคร่าวๆ ก่อน แล้วถึงจะให้ความเห็นทางกฎหมาย แล้วค่อยมากำหนดค่าทนายความกันทีหลัง โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ความหนักเบาของข้อหาและโทษ ความสลับซับซ้อน ความยากง่ายของคดี จำนวนพยานที่จะต้องนำสืบ ความเสี่ยงของทนาย ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ระยะเวลาการดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั้งมีคำพิพากษา

ค่าวิชาชีพทนายความ ขอบคุณภาพ ทนายนิด้า

ทนายดนตร์ ชี้แจงว่า โดยทั่วไปแล้วมักจะคิดค่าทนายความเป็นอัตราร้อยละ 10-20 ของทุนทรัพย์ในคดี หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งค่าทนายความในแต่ละคดี คงจะไม่น้อยกว่า 10,000 บาท โดยจะเรียกค่าทนายความไปทีละชั้นศาล ไม่คิดทีเดียวทั้งสามศาล เนื่องจากคดีอาจจบแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ส่วนจะชำระครั้งเดียวหมดเลย หรือจะแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน

 

“เรทราคา ไม่มี เป็นความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ดูความยากง่าย ความซับซ้อนของหลักฐาน แล้วแต่ว่าจะคิดอย่างไร คิดเหมา หรือคิดเป็นรายชั้น เช่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แต่ก็ต้องเสียภาษีตามบุคคลทั่วไป อยู่ในเกณฑ์เดียวกับค่าวิชาชีพแพทย์ เพราะทนายทำงานในศาล ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงไม่มีค่าเสี่ยงภัย ส่วนการแถลงข่าวไม่เกี่ยวกับค่าวิชาชีพทนายความ ไม่อยากถูกฟ้อง ก็ไม่ต้องแถลงข่าว ก็เท่านั้น” ทนายดนตร์ชี้แจง

ภาพประกอบ ค่าวิชาชีพทนายความ

ค่าวิชาชีพทนายความ เสียภาษีอย่างไร

 

การเรียกค่าตอบแทนการทำงานของทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย จะมีทั้งที่ได้จากเงินได้จากการจ้างแรงงาน และเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างทำของ แล้วแต่ข้อตกลงการทำงาน ที่ตกลงกลับผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ เมื่อมีเงินได้จากการประกอบอาชีพ ผู้มีเงินได้ย่อมมีหน้าที่นำเงินไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่ประมวชรัษฎากรกำหนดไว้ ดังนี้

 

1. เงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้มี 8 ประเภทนั้น เงินได้ที่เข้าลักษณะของการได้รับเงินได้ของทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย 3 ประเภท คือ

 

  • เงินได้จากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1)
  • เงินได้จากการจ้างทำของตามมาตรา 40 (2)
  • เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6)

 

2. ประมวลรัษฎากร กำหนดให้ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ที่มีเงินได้จากการให้บริการทางวิชาชีพ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้เฉพาะค่าว่าความ ตามมาตรา 80 (1) (ฌ)

 

อย่างไรก็ตาม การที่เงินได้ของทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายได้มา ทั้งจากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยเงินที่ได้รับจากนิติบุคคล กฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าจ้าง หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก่อนจ่ายค่าตอบแทนการว่าจ้างแล้ว แต่เงินได้จากบุคคลธรรมดาประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ประกอบกับการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินได้ที่ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายได้รับจากบุคคลธรรมดาเป็นไปได้ยาก จึงทำให้ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายจำนวนมาก หนีภาษี โดยการไม่แจ้งการเสียภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี

 

บทสรุป ตามปกติแล้ว ผู้มีรายได้ ต้องเสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่า แจ้งตรงหรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ