ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเสวนา ”ชวนพรรคร่วมคิด: ให้พลังงานเป็นมิตรต่อโลก ไปกับความต้องการของประชาชน” ในงาน “Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ซึ่งจัดขึ้นค่ำวานนี้ (26 มี.ค.) ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งงานเสวนาดังกล่าว มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นโยบายพลังงานที่ประชาชนต้องการและพรรคการเมืองต้องทำ” เพื่อนำมาเป็นหัวข้อสำหรับพูดคุยบนเวทีเสวนาดังกล่าว จากผลสำรวจพบว่า เรื่องการกำหนดค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการมากที่สุด
ทางออกปรับค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง
โดย ดร.สามารถ ได้แสดงความเห็นด้วยกับผลสำรวจดังกล่าว พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ค่าไฟฟ้ามีราคาแพง กรณีค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร ค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่ามีราคาหน่วยละประมาณ 5.40 บาท เป็นเพราะเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินไป สูงเกินความต้องการ ซึ่งเกิดจากเราได้พยากรณ์ความต้องการเรื่องการใช้ไฟฟ้าไว้สูงเกินความเป็นจริง ทำให้เราต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนไม่ว่าเขาจะผลิตหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากได้มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว และต้องเสียค่าบำรุงรักษา
พร้อมกับได้เสนอแนวทางการปรับราคาไฟฟ้าดังนี้
1.ทบทวนการพยากรณ์ความต้องการของไฟฟ้าให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด โดยเผื่อไว้ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ลดค่าพร้อมจ่ายที่ต้องเสียให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนได้
2.ส่งเสริมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% เพราะจะมีราคาถูกกว่าของเอกชน
3.ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ส่งเสริมการติดแผงโซล่าร์บนหลังคา (Solar- Rooftop) ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง หากต้องการไฟ 5 กิโลวัตต์ ต้องจ่ายค่าติดตั้ง ค่าแบตเตอรี่ รวมแล้วประมาณ 4 แสนบาท
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาทางช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และทำให้แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกลง พร้อมกับกำหนดรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ภาคประชาชน โดยพยายามหาทางปรับรูปแบบจาก Net Billing เป็น Net Metering แต่จะต้องชี้แจงข้อทักท้วงเรื่องความเป็นธรรมให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อนำประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดให้มากที่สุด
ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 19 ของโลก
พร้อมกับเพิ่มเติมว่านอกจากเรื่องดังกล่าว เราก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องการลดคาร์บอนตามความต้องการของโลกด้วย เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับที่ 19 ของโลก จาก 197 ประเทศ และจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) มีเป้าหมายในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ประชาธิปัตย์ ผลักดันนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ด้าน ได้แก่
1. ด้านพลังงาน
- สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
- สนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน
- สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง
- ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
- ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แอปพลิเคชันบริหารจัดการเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
- สนับสนุนนวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- บรรจุหลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานในการเรียนการสอน
- ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคประชาชนในการอนุรักษ์พลังงาน
2. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย
3. ด้านการพัฒนาเมือง
สนับสนุนให้เกิดเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) หรือเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีการวางผังเมือง ระบบจราจร การออกแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรือนโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
4. ด้านการผลิตสินค้า
สนับสนุนการให้ความใส่ใจต่อสินค้าครบทั้งวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเมื่อหมดอายุ โดยทุกขั้นตอนจะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด
5. ด้านอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์
- ส่งเสริมการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิก
- สนับสนุนการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น
6. ด้านการเกษตร และพื้นที่สีเขียว
- สนับสนุนให้มีการปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน
- สนับสนุนการใช้มูลสัตว์ผลิตก๊าซชีวภาพ
- ส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ/ป่าเศรษฐกิจ
- ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และในชนบท
- รณรงค์ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
- ด้านเทคโนโลยี
ส่งเสริมการพัฒนา “เทคโนโลยี CCUS” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรม หรือเก็บไว้ใต้พื้นดิน ไม่ปล่อยเป็นมลภาวะออกสู่ชั้นบรรยากาศ
8. ด้านการกำจัดขยะ
- นำขยะมาผลิตพลังงาน (Waste to Energy) ให้ขยะเหลือเป็นศูนย์ (Zero Waste)
- สนับสนุนแนวทาง 3R (Reuse – Reduce – Recycle) เพื่อลดปริมาณขยะ
9. ด้านคาร์บอนเครดิต
สนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยใบรับรองคาร์บอนเครดิต สามารถซื้อขายได้โดยผ่านแพลตฟอร์ม
10. ด้านกฎหมาย
จะผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าถ้าเราได้มีโอกาสนำนโยบายเหล่านี้มาใช้ ประเทศไทยจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างแน่นอน เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่าการลดโลกร้อนเป็นการทำเพื่อลูกหลาน แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม แต่ถ้าเราทำทุกวันไม่มีวันหยุด ทำอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จจะรออยู่ข้างหน้า” ดร.สามารถ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง