นับตั้งแต่วัตถุกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' สูญหายจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ก่อนไปพบที่โรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในสภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบ เป็นฝุ่นเหล็ก หรือ ฝุ่นแดง ซึ่งสังคมแสดงความกังวล เนื่องจากข้อมูลพบว่า ซีเซียม-137 เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ได้สัมผัส ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และเกิดความสับสนในข้อมูล ถึงปริมาณของฝุ่นแดงที่พบ จะส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหน
คณะแพทย์โรงพยาบาลรามา ศูนย์พิษวิทยาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวยืนยันว่า ปริมาณสารซีเซียม-137 มีปริมาณน้อย ไม่สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร และไม่พบการปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตร ใน จ.ปราจีนบุรี
รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยา และภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สารซีเซียม-137 เป็นไอโซโทปของซีเซียม ความแรงของรังสี มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในระยะสั้น คือ เกิดอาการทางผิวหนังเฉพาะพื้นที่ เช่น คัน บวม เป็นตุ่มน้ำ ส่วนอาการเฉียบพลัน เมื่อได้รับสารปริมาณที่สูง จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และอาการจะหายไปชั่วคราว 1-3 สัปดาห์
ต่อจากนั้น จะส่งผล 3 ระบบหลักของร่างกาย โดยหากเกิดกับระบบเลือด จะกดไขกระดูก ทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำ หากเกิดกับระบบทางเดินอาหาร จะทำให้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และถ่ายเป็นเลือด และหากเกิดกับระบบประสาท จะทำให้มีอาการซึมและชักได้ และมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้
ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ซีเซียม-137 โดยปกติมีใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งการใช้มีปริมาณต่ำกว่าพื้นที่เกิดเหตุ 1,000 เท่านอกจากนี้ ซีเซียม ยังมีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้ในการวัดขี้เถ้าไซโล ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ และยังใช้วัดความหนาของกระดาษและเหล็ก
โดยได้มีการเปรียบเทียบ ความรุนแรง ของซีเซียม-137 ในประเทศไทย มีค่าเพียง 500 ไมโครกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมาก ต่างจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลถึง 57.6 ล้านเท่า และหากเทียบกับเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมา มีความรุนแรงต่างกันถึง 11 ล้านเท่า ซึ่งความรุนแรงในต่างประเทศ สาเหตุเกิดจากสารปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง
ทั้งนี้ ซีเซียม-137 มีจุดเดือดที่ต่ำคือ 671 องศาเซลเซียส หากเทียบกับเหล็ก โดยซีเซียมจะระเหยกลายเป็นไออยู่ในห้องหลอม และโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม หากมีการล้างทำความสะอาด แต่ฝุ่นซีเซียมมีความหนัก ไม่สามารถกระจายได้ไกลเหมือนฝุ่น PM2.5
ส่วนข้อกังวลว่า สารซีเซียม-137 จะฟุ้งไปไกลได้กว่า 1,000 กิโลเมตร ดร.กฤศณัฏฐ์ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะว่าปริมาณซีเซียม-137 น้อยมาก เนื่องจากตัวเริ่มต้นน้อย 500 ไมโครกรัม จะถูกเจือจางโดยธรรมชาติ แต่ที่เหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน หลังจากเกิดระเบิด สารซีเซียม-137 ได้ปนเปื้อนลงสู่น้ำทะเล และสารซีเซียม-137 โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่พบนั้น มีปริมาณของสารจำนวน 27 กิโลกรัม
ดร.กฤศณัฏฐ์ ยืนยันว่า ยังไม่พบการปนเปื้อนสารซีเซียม ในผลผลิตทางการเกษตร ในพื้นที่ จ. ปราจีนบุรี เนื่องจากปริมาณสารซีเซียมน้อยมาก ยังสามารถรับประทานอาหารในพื้นที่ได้เหมือนเดิม รวมถึงยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ หากไม่ใช่การเดินทางไปโรงงานหลอมเหล็ก แต่สิ่งที่ยังต้องกังวลคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการตรวจสอบสารซีเซียม-137 จากโรงหลอมเหล็ก ว่าเป็นตัวเดียวกับที่มีการประกาศหายหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนตามหลักวิชาการ การตรวจสอบจะใช้วิธีการคำนวนย้อนกลับว่า ปริมาณสารที่พบ เท่ากับปริมาณสารตัวที่หายหรือไม่ หรือใช้วิธีการตรวจสอบความเข้มข้นของปฏิกิริยาการสลาย ทางเคมี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง