ข่าว

'ซีเซียม-137' เข้าโรงหลอม เป็นฝุ่นแดง น่ากลัวยังไง ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อันตราย 'ซีเซียม-137' เข้าสู่โรงหลอม นักวิชาการเผย จุดเดือดต่ำ ระเหยง่าย หากกลายเป็นฝุ่นแดง กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต ก่อมะเร็ง

นับจาก "ซีเซียม-137" ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในไซโล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องได้ระดมค้นหาในโรงงาน โรงงานใกล้เคียง ร้านรับซื้อของเก่า โรงหลอมเหล็ก ตลอดจนเรียกสอบพนักงานในโรงงานกว่า 20 คน รวมถึงใช้โดรนและรถจับสัญญาณการแผ่ของสารกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) 

 

 

ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากการเข้าตรวจสอบ บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงถลุงเหล็ก ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้เข้าทำการตรวจสอบ 2 รอบ

 

ซีเซียม-137หายจากโรงงาน

โดยรอบแรกเข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็กแต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 จากนั้นรอบที่สองได้นำเครื่องมือเข้าตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฎพบสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนโรงถลุงเหล็กอื่นๆ ยังไม่เจอ

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อถลุงเป็นน้ำเหล็กแล้วมันจะกระจายไปหมด เข้าใจว่าฝุ่นแดงคงปนเปื้อนด้วยซีเซียม ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีการขนฝุ่นเหล็กออกจากโรงถลุงเหล็กไปที่อื่นหรือไม่ ส่วนอันตรายจากฝุ่นแดงและสารกัมมันตภาพรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าไม่สัมผัสตลอดเวลาคงจะไม่ได้รับผลอะไร



พบซีเซียม-137 ในโรงงานถลุงเหล็ก

ด้านนพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เปิดเผยถึงผลกระทบจาก ซีเซียม-137 ว่า ถ้า ซีเซียม-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม จากเหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า ซีเซียม-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

 

โดยซีเซียม-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้า และรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

 

ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบ น่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

 

นพ.สมรส กล่าวด้วยว่า คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส ซีเซียม-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ 

 

ทั้งนี้ ซีเซียม-137 มีจุดเดือด ค่อนข้างต่ำ 671 °C และระเหยได้ง่ายเมื่อปล่อยออกมาอย่างกะทันหันที่อุณหภูมิสูง เช่น ในกรณีของอุบัติเหตุนิวเคลียร์เชอร์โนปิลและการระเบิดของ ปรมาณู และสามารถเดินทางในอากาศได้เป็นระยะทางไกลมาก หลังจากสะสมบนดิน ในรูปของสารกัมมันตภาพรังสีแล้ว สารกัมมันตภาพรังสีจะเคลื่อนที่และแพร่กระจายได้ง่ายในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสารประกอบทางเคมีที่พบมากที่สุดของซีเซียมซึ่งเป็นเกลือ สามารถละลายน้ำได้สูง

 

ซีเซียม-137

 

ขณะที่นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ยกเว้น มีการผ่าและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย

 

ทางด้านนพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไปหัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สาร ซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีเบต้าและรังสีแกมม่า ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น

 

ซีเซียม-137

 

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า หาก ซีเซียม-137 หลุดเข้าไปในโรงหลอม ซีเซียม-137 จะมีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 671 องศาเซลเซียส ตัวภาชนะที่ห่อหุ้มเป็นเหล็กจะถูกหลอมไปก่อน จากนั้นตัวแก่นในจะระเหยกลายเป็นไอขึ้นมา ซึ่งหากมีกระแสลมพื้นที่ของโรงหลอมก็จะเกิดการปนเปื้อน คนที่จะได้รับผลกระทบกลุ่มแรก คือคนที่อยู่โรงหลอม

 

ซีเซียม-137 เราจะนึกถึงตัวรังสีแกรมม่า นึกถึงอุบัติเหตุปี 2543 ที่เกิดเหตุการณ์โคบอลต์-60 ที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมือหงิกงอ หลังจากผ่าเจอตัวโคบอลต์-60 ซึ่งซีเซียม-137 ก็เช่นเดียวกัน สามารถให้ได้ทั้งรังสีแกรมม่า และเบต้า

 

ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าตัวเบต้าเข้ามาเนื่องจากอุบัติเหตุเมื่อปี 2543 ซีเซียม-137 ถ้าหลอมระเหยขึ้นมา ปลิวกระจายไปในสิ่งแวดล้อม ลงสู่แหล่งน้ำซึ่งตัวนี้สามารถละลายน้ำได้ ก็จะปนเปื้อนไปที่สัตว์น้ำต่างๆ หากคนกินเข้าไปแม้จะในปริมาณที่น้อยแต่ก็จะรบกวนระบบการทำงานของร่างกาย เป็นสารก่อมะเร็ง แต่หากเจอในปริมาณเยอะจะทำให้โปรตีนเกิดการแปรสภาพหรือถูกทำลาย ซึ่งหากเจอสารตัวนี้จะเกิดการหงิกงอ ถ้าลงไปในเตาหลอมระเหยกลายเป็นไอกระจายออกไปจะเป็นอันตรายมาก

 

อ.อ๊อด วีรชัย พุทธวงศ์

 

ขณะที่รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตอบได้ยากว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้าง เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ ที่น่าจะตอบได้คือ ไม่น่าจะเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์ พลูโตเนียม-ยูเรเนียม อะไรทำนองนั้นขึ้น ไม่น่าจะห่วงในเรื่องนี้ 

 

และเมื่อ ซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็นโลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสีนั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่ ต้องให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เอาเครื่องวัดรังสีมาตรวจ

 

แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสาร ซีเซียม-137 นั้นให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอม สู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า

 

สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสาร ซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ หรือทำให้เกิด radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสเปน และกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ที่ควบคุมแทบไม่ได้ 

 

ส่วนประเด็นฝุ่นแดง อ.เจษฎา อธิบายว่า ฝุ่นแดงเป็นกากของการเผาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีข่าวพบว่ามีการปนเปื้อน ซึ่งหากมีการพบว่าฝุ่นแดงมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ผสมอยู่ ทั้งหมดจะต้องถูกนำไปเก็บกวาดทำลาย โดยสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ แต่หากมีการหลุดไปในสิ่งแวดล้อมหรือไปสัมผัสกับคนก็จะเป็นสารรังสี สามารถปลดปล่อยรังสีออกมาได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน ระยะเวลานานแค่ไหน ระยะห่างแค่ไหน ซึ่งหากรับในปนิมาณมากแน่นอนว่าส่งผลอันตรายต่อร่างกาย อาจจะเป็นในระบบ DNA เซลล์ เนื้อเยื่อ ระบบต่างๆในร่างกายได้แน่ๆ

 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือมันกระจายไปแค่ไหน กระบวนการตอนเผามีการปนเปื้อนฟุ้งกระจายออกมาแต่ไหน ซึ่งกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนที่อยู่ในโรงงาน ที่ทำงานหน้าเตาเผา หรือรวมถึงคนที่นำเหล็กไปบีบอัด ที่อาจจะได้รับสารไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจำเป็นต้องพาทุกคนไปตรวจร่างกายทั้งหมด และต้องตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนติดเสื้อผ้าไปหรือไม่

 

นอกจากนี้ ในการหลอม เนื่องจากซีเซียม-137 เป็นเหล็ก จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการหลอมเข้าไปกับแท่งเหล็ก ก็อาจจะเกิดสภาวะโลหะผสมที่มีกัมตรังสี ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ ก็ต้องไปตรวจสอบ ส่วนที่เป็นเรื่องใหญ่ก็คือส่วนที่เป็นเถ้าลอยขึ้นไปจากปล่องโรงงาน ซึ่งยังไม่มีการพูดถึง ก็ไม่รู้ว่ามีการตรวจเจอบ้างหรือไม่ เจอมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดตามความเป็นจริงว่าเจอหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องออกมาบอกตามความเป็นจริง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ