3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นพื้นที่ แข่งเดือด ของหลายพรรคการเมือง เลือกตั้ง66 เก้าอี้ สส.รวมขยับขึ้นจาก 11 ที่นั่ง เป็น 13 ที่นั่ง แยกเป็น ปัตตานี 5 นราธิวาส 5 และยะลา 3 ที่นั่ง
หากย้อนกลับไปที่ผลการเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาชาติคือแชมป์ชายแดนใต้ เพราะกวาดไปถึง 6 จาก 11 ที่นั่ง แม้เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ แต่แกนนำล้วนแต่รุ่นลายคราม และหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ คือ คะแนนจาก กลุ่มต้มยำกุ้ง
คำว่า ต้มยำกุ้ง ในที่นี้หมายถึงคนจากพื้นที่ชายแดนใต้ที่ไปเปิดร้านอาหารไทยในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก นับเฉพาะแค่กรุงกัวลาลัมเปอร์และพื้นที่ใกล้เคียง ราวๆ 2,000-5,000 ร้าน หากนับทั่วทุกรัฐของมาเลย์ น่าจะกว่า 50,000 ร้าน มีแรงงานในเครือข่ายนี้ ทั้งเชฟ เด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมุนเวียนในธุรกิจประมาณการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 200,000 คน
เมื่อคนเหล่านี้กลับมาเลือกตั้ง รวมเสียงกับครอบครัวของพวกเขาในฝั่งไทย ย่อมกลายเป็นกลุ่มก้อนคะแนนเสียงขนาดใหญ่ที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้เหมือนกัน
คนกลุ่มนี้เคยถูกมองในแง่ลบจากฝ่ายความมั่นคงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบในชายแดนใต้ แล้วหนีไปกบดานยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรื่องราวเหล่านี้ค่อยๆ จางหาย เพราะความเป็นจริง คือ เศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนชายแดนใต้ ขับเคลื่อนได้ส่วนหนึ่งก็จากกลุ่มแรงงานร้านต้มยำกุ้ง
ด้วยความผูกพันและสายสัมพันธ์อิสลาม ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ ฮีโร่ ผู้เสียสละของครอบครัว ยอมห่างบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานไกลบ้าน เพื่อส่งเงินกลับมาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นแรงงานนับแสนกลุ่มนี้ หากเทให้พรรคการใดหรือฝ่ายไหน ย่อมมีโอกาสพลิกชนะทันที เพราะไม่ใช่เพียงแรงงานกลุ่มต้มยำกุ้ง แต่คนที่บ้าน คนในครอบครัว ที่รอเงินจากคนเหล่านี้ก็จะเลือกตามๆ กัน
จะเห็นได้จากเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาชาติ รับคะแนนจากคนกลุ่มนี้เป็นกอบเป็นกำ จนฝ่าด่านพรรคใหญ่มาได้ถึง 6 ที่นั่ง ซึ่งผลส่วนหนึ่งมาจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ดูแลผู้ประกอบการและแรงงานเหล่านี้ตั้งแต่สมัยเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. แม้พ้นตำแหน่งก็ไม่เคยทอดทิ้ง
โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. 65 พ.ต.อ.ทวี ได้ไปร่วมสังเกตการณ์การอบรมการยกระดับและพัฒนาร้านอาหารต้มยำในประเทศมาเลเซีย โดยกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำ ร่วมกับ เชฟทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ ประเทศไทย และ เบญจวรรณ ปกป้อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร พร้อมใจกันจัดขึ้น
เป้าหมายใหญ่กว่าเก่า คือ เพื่อสร้างอาชีพ ยกระดับครัวไทย-มาเลเซีย สู่ “ครัวโลก” พร้อมสอนเทคนิคการทำอาหารไทยเพื่อให้ถูกใจคนมาเลเซีย โดยรักษาอัตลักษณ์และจุดเด่นของเมนูอาหารไทยเอาไว้อย่างครบถ้วน กิจกรรมนี้มีจัดทั้งในประเทศไทยและในมาเลเซีย
คู่แข่งพรรคประชาชาติ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ขุนพลภาคใต้ อย่าง นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเดินทางไปมาเลเซีย พบเครือข่ายต้มยำกุ้งเมื่อช่วงปีที่แล้วเช่นกัน เพื่อรับฟังปัญหา และนำปัญหากลับมาหาทางช่วยเหลือ โดยผลักดันผ่านกลไก ศอ.บต.
พรรคประชาธิปัตย์ประกาศใช้ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร และเตรียมเดินหน้าใช้กลไกกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทางพรรคดูแลอยู่ จับคู่ธุรกิจ ส่งออกวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารไทยจากฝั่งไทยไปยังร้านต้มยำมาเลย์ เพราะต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เป็นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพร้อมกัน มาเป็นแรงจูงใจ
สามจังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นพื้นที่ปะทะระหว่าง ประชาธิปัตย์ กับ ประชาชาติ พรรคไหน จะเจาะฐานต้มยำกุ้งได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่ากัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง