ข่าว

'เลือกตั้ง66' จำเป็นต้อง 'ยุบสภา' ครั้งที่ 15 หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนประวัติ การ 'ยุบสภา' ในประเทศไทย ไม่พบว่ามีครั้งไหน ที่เอื้อต่อการขยับขยายทางการเมือง เหมือนการ 'เลือกตั้ง66'

 

ย้อนดูประวัติการยุบสภาในประเทศไทย เพื่อให้มีการเลือกตั้ง66 มีรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง 2 มาตรา ประกอบด้วย  

รัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร



โดยมาตรา 97 เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. (3) กำหนดให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวบังคับใช้

 

 

ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง ไม่มีครั้งใดที่ การยุบสภา มีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการขยับขยายทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง66

 

ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากรัฐบาลแพ้โหวตญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ

 

ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เพราะอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป

 

ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

 

ครั้งที่ 4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากเกิดปัญหา
ความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรงอันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความ
ขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

 

ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากสภาลงมติไม่รับหลักการพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ.2529 

 

ครั้งที่ 7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาล
เห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล

 

ครั้งที่ 8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 การยุบสภาในครั้งนี้
สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม

 

ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สาเหตุจาก การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณี สปก. 4-01

 

ครั้งที่ 10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27กันยายน พ.ศ. 2539  จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องสัญชาติของนาย บรรหาร ศิลปอาชา

 

ครั้งที่ 11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543  ภายหลังแก้วิกฤติฟองสบู่ 2540

 

ครั้งที่ 12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุม
สาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง

 

ครั้งที่ 13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลาย
ปัญหาทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 แล้ว

 

ครั้งที่ 14 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจาก
หลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. 2556
 

หากยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องถือประกาศ กกต.ที่ระบุให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พฤษภาคม 66 ซึ่งผู้สมัครฯ สส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่เกินวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 66

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

มีคำถามว่า ขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสุดท้ายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 66  มีกิจการหรือปัญหาใดเกี่ยวกับสภาที่จะเป็นเหตุให้ยุบสภาได้อีก  ประกอบกับวาระของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 66 หรือ อีกประมาณ 1สัปดาห์หากมีการจะยุบสภาตามที่เป็นข่าวคือในวันที่ 15 หรือ 20 ก็ยิ่งไม่มีความจำเป็น เว้นแต่จะเป็นไป ตามที่ฝ่ายการเมืองแถลงว่า จะใช้วิธียุบสภาก็เพื่อเปิดโอกาสให้มีการขยับขยายทางการเมืองได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ