
"ปกาเกอะญอ" หนึ่งในพี่น้องท้องน้ำเต้าปุง
ทุกวันนี้ประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกลุ่มนักวิชาการและคนทั่วไปในสังคม หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี หนีไม่พ้นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเรียกว่า กะเหรี่ยง ซึ่งความจริงแล้วพวกเขาเรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ แปลว่า คน
ชาติพันธุ์ดังกล่าวนิยมอาศัยอยู่ในภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ดังเช่นดินแดนทางภาคเหนือของไทย พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มีโอกาสชมการแสดงดนตรีของชาวปกาเกอะญอ และเผ่าอื่นๆ ในคอนเสิร์ต “ดนตรีชาติพันธุ์ พันแสงรุ้ง” ซึ่งรายการพันแสงรุ้งของคุณนก นิรมล เมธีสุวกุล จัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล
คุณ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เลือดเนื้อเชื้อไขปกาเกอะเญอตัวจริงเสียงจริง มาพร้อมกับ “เตหน่า” เครื่องดนตรีที่หลายคนไม่เคยรู้จัก
คุณชิไม่ได้เป็นเพียงศิลปินผู้สร้างสรรค์งานดนตรีเท่านั้น หากแต่ยังทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ทางด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพยายามทำให้งานดนตรีเอื้อต่องานชุมชนที่ทำอยู่ จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมว่าชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเองมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือปิดบังไม่ให้ใครรู้ที่มาของตนเหมือนในอดีต
เพราะความจริงแล้ว ผู้คนอุษาคเนย์ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต ล้วนเชื่อว่ามนุษย์เราเกิดจาก “น้ำเต้าปุง” (ปุง คือ ภาชนะใส่ของ) เดียวกัน โดยเกิดออกมามีพี่น้อง 5 คน แต่ละคนเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่างๆ ในแถบนี้
ดังนั้นแม้จะมีความหลากหลายทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษา และวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังเป็นพี่น้องท้อง (น้ำเต้าปุง) เดียวกัน อยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับปกาเกอะญอ หนึ่งในพี่น้องร่วมท้องของดินแดนอุษาคเนย์
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"