
'ขนส่งพัสดุ' ไทยโต เร่งผลักดัน E-Commerce ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ
เร่งผลักดัน 'E-Commerce' ขับเคลื่อนธุรกิจ 'ขนส่งพัสดุ' หลังแนวโน้มปี 2566 เติบโตกว่า 18 % มูลค่า 1.15 แสนล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน โลกออนไลน์มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนเราอย่างมาก การทำธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค จึงมีร้านค้าที่ก้าวเข้าสู่โลก E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) กันมากขึ้น การศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์และกลยุทธ์การตลาด ในการโปรโมทสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้สามารถขายสินค้าและเอาชนะคู่แข่งที่มีจำนวนมากได้
ขณะเดียวกันก็พบว่า แนวโน้มธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 ของประเทศไทย เติบโตกว่า 18% มีมูลค่ามากถึง 1.15 แสนล้านบาท นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ รัฐบาล เร่งผลักดันและส่งเสริม ธุรกิจ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมสนับสนุน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นแรงหนุน เพิ่มโอกาส เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ หลังรับทราบรายงานการประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของ ttb analytics ธุรกิจขนส่งพัสดุ เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่ง ที่เติบโตกว่า 90% ประกอบกับปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค และแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการเสริมทักษะความรู้ และงบประมาณ
นอกจากนี้ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 แพร่ระบาด การซื้อขายสินค้าออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตกว่า 30% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2565 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และธุรกิจขนส่งพัสดุยังคงเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท จากความชื่นชอบและคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดย ttb analytics คาดว่า ในปี 2566 ธุรกิจขนส่งพัสดุจะมีมูลค่าถึง 1.15 แสนล้านบาท เติบโต 18% ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce ที่เติบโตราว 11% ทำให้เกิดช่องทางใหม่ๆ สำหรับการซื้อขายสินค้า เช่น Live Commerce ผ่านสื่อออนไลน์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชน เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจในประเทศ โดยในส่วนของตลาด E-Commerce นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และสนับสนุน โดยเน้นย้ำว่า การประเมินการเติบโตของตลาดให้เท่าทันพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจที่มีการปรับตัวตามกระแสนิยม สรรหาโอกาส และช่องทางใหม่ๆ อยู่เสมอ จะเป็นผู้ได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ
ธุรกิจ E-Commerce คืออะไร
E-Commerce ย่อมาจากคำว่า Electronic Commerce แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการทำธุรกิจโดยซื้อขายสินค้า หรือโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่นิยมคือ วิทยุ โทรทัศน์ และที่มีการใช้งานมากที่สุดในปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ต โดยสามารถใช้ทั้งข้อความ เสียง ภาพ และคลิปวิดีโอในการทำธุรกิจได้ การทำธุรกิจแบบ E-commerce สามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางและทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการได้เป็นอย่างดี
ประเภทของ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ)
- ธุรกิจกับผู้ซื้อปลีก หรือ บีทูซี (B-to-C = Business to Consumer) คือ ผู้ซื้อปลีกซื้อสินค้าจากผู้ขายผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น การขายเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง เป็นต้น
- ธุรกิจกับธุรกิจ หรือ บีทูบี (B-to-B = Business to Business) คือ ผู้ประกอบการสองฝ่ายทำการติดต่อซื้อขายกัน โดยการขายในที่นี้เป็นการขายส่ง ซึ่งทำการสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต
- ธุรกิจกับรัฐบาล หรือ บีทูจี (B-to-G = Business to Government) คือ ธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เช่น การจัดจ้างของภาครัฐโดยประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่าย
- รัฐบาลกับรัฐบาล หรือ จีทูจี (G-to-G = Government to Government) คือ การติดต่อกันระหว่างหน่วยงานในรัฐบาล เป็นการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกระทรวง