ข่าว

เช็กสิทธิ 'ประกันสังคม-บัตรทอง' รักษา 'โรคซึมเศร้า' ได้เท่าไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กสิทธิ 'ประกันสังคม-บัตรทอง' รักษา 'โรคซึมเศร้า' ได้เท่าไร เปิดค่ารักษา โรงพยาบาลรัฐ-โรงพยาบาลเอกชน สะดวกแบบไหน เลือกแบบนั้น

ปัจจุบัน "โรคซึมเศร้า" ดูเหมือนจะใกล้ตัวเข้ามาทุกวัน และไม่จำกัดอายุ รวมทั้งดูเหมือนว่า ช่วงอายุ ก็ลดต่ำลงมาก จากข่าวที่ปรากฎ ที่พบว่า เด็ก เกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น และเชื่อว่าหลายคน เคยมีความคิดอยากไปพบจิตแพทย์ แต่ก็ไม่รู้จะไปที่ไหน ต้องทำอย่างไร และที่สำคัญ ค่าตรวจ-ค่ายารักษาโรคซึมเศร้า แพงหรือไม่ ครอบคลุมหลักประกันสุขภาพอะไรบ้าง เช่น บัตรทอง หรือ ประกันสังคม

 

นับว่าเป็นข่าวดี ทั้งผู้ถือบัตรทอง และ ผู้ประกันตน เพราะสามารถใช้สิทธิประกันสังคม ในการรักษาโรคซึมเศร้าได้ โดยสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ยืนยันว่า สำนักงานประกันสังคม ให้ความคุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้า และโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งผู้ถือบัตรทอง 30 บาท สามารถใช้สิทธิรักษาโรคซึมเศร้าได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ 

ค่าใช้จ่ายโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลรัฐ

 

โรงพยาบาลศรีธัญญา

 

มีค่าให้บริการที่แตกต่างใน 2 ช่วงเวลา คือเวลาทำการปกติ (จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.) และคลินิกนอกเวลา (จันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-20.30 น.) โดยมีอัตราดังนี้

 

  • ในเวลาทำการ ค่าแพทย์ 150 บาท
  • คลินิกนอกเวลา ค่าแพทย์ 690 บาท
  • ค่ายา ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์


โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

ให้บริการในคลินิกนอกเวลา ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-19.00 น. และวันเสาร์ 09.00-12.00 น.

 

  • ค่าแพทย์ เริ่มต้นที่ 1,000-1,500 บาท
  • ค่ายา ขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์

 

คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือในเวลาทำการ (จันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น.) และคลินิกนอกเวลา (จันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-20.00 น. และวันเสาร์ เวลา 08.00-14.00 น.) โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • ในเวลาทำการ ค่าแพทย์ 50 บาท 
  • คลินิกนอกเวลา ค่าแพทย์ 1,000 บาท

 

สำหรับค่ายาของที่นี่ จะขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์ แต่ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการจ่ายยาที่ผลิตในประเทศให้ก่อน โดยให้ยาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อดูอาการ ค่าบริการครั้งแรกโดยประมาณไม่เกิน 500 บาท จากนั้นจะทำการนัดตรวจเพื่อดูอาการว่า ยาเดิมได้ผลหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นอาจต้องเปลี่ยนเป็นยาต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
          
โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ และประสาทจิตเวชศาสตร์ โดยให้บริการตามวันและเวลาราชการ แต่ก็มีคลินิกพิเศษนอกเวลาเช่นกัน ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-20.00 น. ซึ่งในส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมราว ๆ 700 บาท เป็นค่าบริการผู้ป่วยใหม่ ค่าธรรมเนียมแพทย์ และค่าตรวจประเมินผู้ป่วยใหม่ ซึ่งสามารถเบิกได้ตามสิทธิรักษาที่มี 

 

สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

 

การพบแพทย์ในเวลาราชการ ต้องเดินทางไปจองคิวตั้งแต่ก่อน 07.00 น. 
และจะรับคิวจำนวนจำกัดวันละ 200 คนเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีค่าบริการ ยกเว้นหากมีการตรวจเพิ่มเติม หรือจ่ายยาก็ต้องจ่ายค่าตรวจ และค่ายาที่ได้รับ
           

ส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 16.00- 20.30 น. (ผู้ป่วยใหม่ปิดรับคิว 19.30 น.) อัตราค่าบริการเริ่มต้น 900 บาทขึ้นไป โดยไม่สามารถใช้สิทธิใดเบิกได้

 

หากไม่แน่ใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเอง สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 เมื่อโทรไปแล้ว ให้กดหมายเลข 2 พร้อมใส่เลขบัตรประชาชน ระบบจะแจ้งสิทธิมาทันที หากมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแจ้งหน่วยงานบริการประจำ (ใกล้บ้าน) ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเดินทางไปรักษา

 

ส่วนสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งข้าราชการและครอบครัว หากแพทย์ตรวจแล้วระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000

 

โรงพยาบาลเอกชน

 

โรงพยาบาลวิมุต

สำหรับค่ารักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลวิมุตจะแบ่งเป็นค่าบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล และค่ายา มีรายละเอียดดังนี้

 

  • ค่าแพทย์ 1,200-2,000 บาท
  • ค่าบริการโรงพยาบาล 300 บาท 
  • ค่ายา ขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์

 

โรงพยาบาลพระราม 9

 

แบ่งเป็น 2 ช่วง คือผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาครั้งแรก และผู้ป่วยเก่าที่มาตามนัด

 

  • ผู้ป่วยใหม่ ค่าแพทย์ 1,800-3,500 บาท
  • ผู้ป่วยเก่า ค่าแพทย์ 800-1,500 บาท
  • ค่าบริการโรงพยาบาล 250 บาท
  • ค่ายา ขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์

 

ทั้งนี้ ช่วงราคาที่ห่างกันขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความยากง่ายต่อการรักษา

 

โรงพยาบาลพญาไท 2

 

อัตราค่าบริการปรึกษาจิตแพทย์จะเริ่มต้นที่ 1,500 บาท สามารถพบแพทย์ได้ประมาณ 30-40 นาที หากเกินเวลานี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือหากมีการจ่ายยา มีตรวจเพิ่มเติมก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

 

โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท

 

เปิดให้บริการในวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 08.00-16.00 น. และวันศุกร์ เวลา 13.00-16.00 น. ปิดทำการ วันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีค่ารักษาโรคซึมเศร้าดังนี้

 

  • ค่าแพทย์ 800 บาท
  • ค่ายา ขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์

 

สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เบื้องต้นสามารถโทรปรึกษากับสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่หมายเลข 1323 และอีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ แอปพลิเคชันที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ผ่านทางออนไลน์ ก็สามารถทำการนัดจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปฯ Ooca ได้เลย โดยค่าบริการจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อครึ่งชั่วโมง สำหรับนักจิตวิทยา และ 1,500 บาทต่อครึ่งชั่วโมง สำหรับจิตแพทย์ ซึ่งจะได้พบแพทย์และนักจิตวิทยาผ่าน Video Call ส่วนตัวแอปฯ ก็สามารถโหลดฟรีได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ