นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าได้มีการรายงานขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของครม. หากมีการยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ ส่วนวันยุบสภาฯ เป็นเรื่องของนายกฯ กำหนด แต่นายกฯ ได้เปรยในทำนองว่า มีอะไรจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกทีในกรณีหากจะมีการยุบสภา เพราะต้องฟังสัญญาณจากกกต. ด้วย เนื่องจากกกต. ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการทักท้วงกันอยู่หลายประเด็น และเรื่องจำนวนราษฎร ซึ่งกกต. ก็ขอมีส่วนร่วมด้วย แต่เป็นการแนะนำเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็คงจะถ้อยทีถ้อยอาศัยฟังกันอีกที และแนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยน่าจะเกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์
ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แน่นอน ตามกกต. กำหนด โดยวันนี้รอให้กกต. ทำกฎหมาย กฎกติกาต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนจะเป็นต้นมีนาคมนี้หรือไม่ ก็คงประมาณนั้น
“ระยะเวลาก็ต้องทำให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ ส.ส.ให้มีเวลาหายอกหายใจ นายกฯ ไม่มีเวลาไปถ่วงเวลาใคร ๆ ยังไงก็ทำงานทุกวันอยู่แล้วไม่ว่าจะยุบไม่ยุบ ครม.ก็ทำงานเหมือนเดิม เพราะต้องรักษาการต่อจนมีรัฐบาลใหม่ "
รศ.ดร. สุขุม นวลสกุล อดีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่า การแจ้งล่วงหน้าเรื่องการยุบสภาเป็นแทคติกการเมืองอย่างหนึ่ง การยุบสภามีความจำเป็นสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเงื่อนไข ที่สส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งลดลงจาก 90 วัน หากสภาอยู่ครบวาระ เหลือ 30 วัน เมื่อมีการยุบสภา
ทำให้ พรรคการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสในการดึงผู้สมัครฯที่มีโอกาศได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง66 มาสังกัดพรรค เพราะดูจากท่าทีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จริงจังและคาดหวังกับผลการเลือกตั้งมากเห็นได้จากการลงพื้นที่ พบปะประชาชน นอกจากนี้ เมื่อยุบสภาแล้ว นายกฯยังสามารถปรับคณะรัฐมนตรี ได้ด้วย แต่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการประจำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง