15ก.พ. 2566 ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพ ราชประสงค์ เครือเนชั่น จัดเวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน” ตัวแทนพรรคการเมือง ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ หัวข้อ นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย นำเสนอว่า ต้นไม้พิษ 3 ต้นที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยเดินหน้าไม่ได้ ได้แก่ ต้นเงิน ต้นทุน ต้นตอ เรื่องเล็กที่สุด คือ ต้นเงิน ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เราจะคุ้นเคยกับการใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นเพียงปลายทาง ในความเป็นจริง เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ด้านธนาคาร ก็ไม่ต้องการให้สินเชื่อกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง สิ่งที่ขาดไปคือกลไกที่จะทำให้สองส่วนมาเจอกันตรงกลาง และกลไกตัวนี้มีชื่อว่า การค้ำประกันสินเชื่อ สิ่งนี้คือกลไกที่ขาดไป ถึงแม้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะดำเนินการอยู่
แต่ยังมีการชวนให้ตั้งคำถามในเรื่องประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อไทยจะเข้าไปยกเครื่องประสิทธิภาพของ บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ส่วนต้นทุน เน้นที่ต้นทุนไฟฟ้า เราแบ่งเป็น ภาคครัวเรือน กับ ธุรกิจ ซึ่งครัวเรือนจ่ายถูกกว่า
แนวทางแก้ไข 1. รื้อสัดส่วนการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติ 2. รื้อกำลังการผลิตส่วนเกิน 3. รื้อโครงสร้างราคาพลังงานและการคิดราคา 4. เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เรื่องต้นตอ เพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการพูดขาด แต่จะไม่ทุบทุนใหญ่ให้ตาย วิธีแก้ สร้างเวทีคู่ขนาดให้ทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยกฎหมายที่แตกต่างกัน สิทธิประโยชน์และพื้นที่ที่แตกต่างกัน จะทำให้เอสเอ็มอีและรายใหญ่เดินไปด้วยกันได้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมืองและเครือข่าย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า หากพลังประชารัฐสามารถเข้าไปดูแลในครั้งนี้ ต้องแปรบทบาทของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่ทำงานอยู่ เป็นมาสเตอร์เพลน และจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี
คีย์เวิร์ดแรก ต้องปรับบทบาทสสว. ถ้าไม่ปรับบทบาท ที่กล่าวมาจะทำไม่ได้ เพราะติดในเรื่องของกฎหมาย สสว.ต้องทำในส่วนที่เป็นนโยบาย และบิ๊กเดต้า ที่จะรู้ว่าปัญหาของเอสเอ็มอีอยู่ที่ไหน ส่วนการนำโยบายไปสู่การปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของโอเปอเรเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แต่จะต้องทำงานภายใต้มาสเตอร์เพลนที่ไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แล้วใช้งบประมาณเหมือนในอดีต และเสนอให้ตั้งองค์กรกึ่งอิสระ เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลของนโยบาย และประเมินผลงบประมาณในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อวัดผลออกมา และต้องไม่อยู่ใน สสว. เพื่อให้เกิดความสมดุล
และปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้เป็นยุคดิจิทัล ทรายส์ฟอร์เมชั่น แต่เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ แต่สิ่งสำคัญ คือ มายเซตของเอสเอ็มอี รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่จะรองรับในเอสเอ็มอี ถ้าให้ สสว.เป็นตัวช่วย ต้องเปลี่ยนผ่านให้คล้ายต่างประเทศ ตัวอย่างประเทศอังกฤษ มีการใช้แพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นสิ่งโค้ชชิ่งให้กับเอสเอ็มอี เพื่อจะดูว่าเอสเอ็มอีขาดอะไร และจะเชื่อมโยงให้เขาอย่างไร รวมทั้งการแก้หนี้ให้เอสเอ็มอี ต้องสร้างกองทุนขึ้นมา เพราะเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนธนาคารไม่ได้ ด้วยหลักประกันไม่มี สินทรัพย์ไม่มี ดังนั้นจึงต้องมีกองทุนออกมา และมีกฎหมายพิเศษไปรองรับ
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นำเสนอแนวนโยบายว่า พรรคนำเสนอนโยบายโอกาสนิยม เพื่อให้เอสเอ็มอีแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง โดยการสร้างโอกาส ติดอาวุธ ให้แต้มต่อ สร้างโอกาส ในการเข้าถึงเงินทุนพัฒนาตัวเองให้เติบโตทั้งผลิตภัณฑ์ทั้งระบบและวิธีการทำงาน ปัจจุบันเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าสู่การกู้เงินในระบบ บางคนติดแบล็กลิสต์บูโร จนต้องพึ่งหนี้นอกระบบ พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอให้ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร และมาใช้ระบบเครดิตสกอร์แทน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้น
เพราะผู้ที่ติดแบล็กลิสต์ถึงประมาณ 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 3.2 ล้านคนที่ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด อีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจ คือ เอสเอ็มอีต้องสามารถทำให้คนในประเทศพอใจและมั่นใจ ที่จะใช้สินค้าไทยที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยส่งออก ไทยมั่งคั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า มีโมเดลคลาวน์ แฟคตอรี่ ที่ อบต.บ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา มี อย.กลางให้เอสเอ็มอีมาใช้บริการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน
ซึ่งหากพัฒนาโมเดลดังกล่าวทั่วประเทศจะทำให้สินค้าได้รับการพัฒนาได้อย่างมีมาตรฐานทั้งตัวผลิตภัณฑ์และแพคเกจจิ้ง คนไทยมั่นใจในสินค้าไทย และสามารถส่งออกได้ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนจากประเทศที่ซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นขายสินค้าออนไลน์ ขายให้เป็น ใช้ทีมขายเอกชน เหมือนที่ประเทศจีนทำสำเร็จมาแล้ว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการยุทศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย นำเสนอว่า ต้องแบ่งปัญหาออกมาเป็น 3 ก้อน และแก้ทีละก้อน คือ ปัญหาหนี้สินและเงินทุน ปัญหาทางกฎหมาย และปัญหาทางด้านโอกาส ปัญหาหนี้สินและเงินทุน พรรคไทยสร้างไทยแก้หนี้-เติมทุน ด้วย 3 กองทุน คือ กองทุนฟื้นฟูหนี้เสียที่จะแก้หนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด โดยพักหนี้ให้สามปีและจ่ายดอกเบี้ยให้สองปี
ปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกู้ใหม่ได้ และ หากไม่สามารถกู้ใหม่เพื่อไปฟื้นฟูธุรกิจได้ ก็จะมีกองทุนเอสเอ็มอีขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้กลับมาฟื้นคืนหรือตั้งธุรกิจใหม่ได้ ในส่วนของระดับไมโครหรือเล็กมากๆ นั้น จะมีกองทุนเครดิตประชาชนที่จะปล่อยกูให้ประชาชนตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนจ่ายได้เป็นรายวัน เป็นเงินหมุนในการทำธุรกิจแต่ละรอบ
ด้านที่ 2 คือปลดล็อกข้อจำกัด พรรคไทยสร้างไทยจะออก พ.ร.บ. หนึ่งฉบับเพื่อแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินจำนวน 1,400 ฉบับ เช่น อย. กฎระเบียบต่างๆ ที่ซ้ำซ้อน รวมถึงใบอนุญาตต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนด้วย
ด้านที่ 3 คือการสร้างโอกาส เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อโดยสร้างคลัสเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยให้รัฐเป็นผู้ลงทุนให้ สร้าง One-stop service ให้ผู้ประกอบการมาใช้งานมีทั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมอยู่ร่วมกัน รวมถึงระบบการขอใบอนุญาตต่างๆ ให้ง่ายขึ้น
อีกนโยบายหนึ่งคือต้องมีแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เพราะในปัจจุบันแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบัน และ มีนโยบายที่จะงดภาษี เอสเอ็มอี เป็นเวลา 3 ปี โดยเปิดให้ เอสเอ็มอี มาลงทะเบียนโดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเข้าสู่ระบบ E-tax, E-invoice เพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ในอนาคต
นายสันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงวิสัยทัศน์ว่า การแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี มี 4 ภาคที่เกี่ยวข้อง คือ ภาคการเงิน ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา แต่ในทั้งหมดบางเรื่องที่เร่งด่วนนั้น ทำได้ทันที โดยที่ไม่ต้องยกร่างกฎหมายใหม่ ไม่ต้องแก้อะไรมาก แต่เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ
ยกตัวอย่างแรก ภาคการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก บริษัทร่วมลงทุน ยังมีน้อยไป แต่มีในบริษัทที่มีเงินทุน ในตลาดหลักทรัพย์มากเกินไป ดังนั้นภาครัฐสามารถเข้ามาช่วย เช่น นโยบายเรื่องภาษี เพื่อให้บริษัทร่วมลงทุนมีกำลังใจ ธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องการปล่อยกู้ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะความไม่มั่นคง 1. เกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยง 2.เกณฑ์ภาษี รวมทั้งมาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ มีผลต่อการปล่อยเงินกู้ ในเรื่องของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการช่วยเอสเอ็มอี สสว. ต้องปรับบทบาทให้ดูได้อย่างแท้จริง
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอี คือ เงินทุน จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เงินหายไปพอๆกับงบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท และกำลังถูกรายใหญ่ และต่างชาติเข้าไปซื้อ ในการหาเสียงของพรรคการเมือง พดกันในประเด็น พักหนี้ ยกเลิกการตรวจเครดิตบูโร เป็นการทำให้ระบบการเงินอ่อนแอลง สิ่งที่จะแก้ไข คือ การหาทุนใหม่ ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ วางแนวคิดกองทุนวายุภักษ์ จำนวนเงิน 5 แสนล้านบาท รูปแบบที่อเมริกาใช้
และนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจมารวมกัน และไทยมีเงินออมจำนวนมาก กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) เงินออม 1.2 ล้านล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอาเงินพวกนี้มาปล่อยให้เอสเอ็มอี โดยใช้วิธีแปลงหนี้เป็นทุน แล้วจึงนำมาตั้งเป็นกองทุน แล้วนำหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้ามาเบลม แล้วขายให้กับกองทุนที่สนใจ โดยรัฐอาจจะรับประกันโดยให้ผลตอบแทนในเบื้องต้น วิธีการแบบนี้เป็นการนำสินทรัพย์ของรัฐ ที่ไม่ได้เกิดประดยชน์มาใช้ และเป็นการป้องกันปัญหาหนี้เสียให้กับธนาคาร ทำให้เอสเอ็มอีมีเงินใหม่
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล แสดงวิสัยทัศน์ในฐานะตัวแทนพรรคว่า ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเดิมที่พยายามบุกเบิกธุรกิจ ถ้าไม่มีทุนก็เป็นเรื่องยาก การกู้ธนาคารก็เป็นเรื่องยาก การดำเนินการล่าช้า ปัจจุบันตัวเลขของเอสเอ็มอี ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไตรมาส 3 ของปี 2565 แม้แต่รวมสามไตรมาสก็ไปในทิศทางที่ดี แต่ไม่ได้ดีกว่าก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
หัวใจสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเอสเอ็มอี ของ พรรคก้าวไกล คือ แต้มต่อหนุน เงินทุนดี ภาษีช่วย ในเรื่องแต้มต่อหนุน วางแนวทางหวยเอสเอ็มอี สนับสนุนการเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องของเอสเอ็มอี สนับสนุนการขยายตลาด ซื้อสินค้านำมาแลกสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
เติมทุนให้เอสเอ็มอี ด้วยทุนตั้งตัว และ ทุนสร้างตัว นำงบประมาณใส่ให้กับ บสย. เพื่อให้ไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี ในการขอกู้เงินกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) จุดสำคัญคือการแบ่งโควต้าชัดเจน รายเล็ก 1 แสนบาท รายใหญ่ 1 ล้านบาท
ลดรายจ่ายเอสเอ็มอี สามารถนำค่าแรงมาหักภาษี 2 เท่า ระยะเวลา 2 ปี หลังจากขึ้นค่าแรง ค่าประกันสังคม รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของนายจ้าง 6 เดือนแรกรัฐจะเป็นคนอุดหนุนให้ และให้แต้มต่อเอสเอ็มอี ด้วยระบบภาษีอย่างแท้จริง แต่เดิมกำไรของนิติบุคคล ในช่วง 3 แสนบาท - สามล้านบาท เสียภาษีจาก 15 % เหลือ 10 % และในส่วนไม่เกิน 30 ล้านบาท จากเดิมเสียภาษี 20 % จะลดเหลือ 15 %
ข่าวที่เกี่ยวข้อง