ข่าว

14 กุมภาพันธ์ ‘วันราชภัฏ’ คนของพระราชา สู่ ‘วิศวกรสังคม’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

31 ปี 'สถาบันราชภัฏ' หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้ง 38 แห่ง กระจายอยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นคนของพระราชา มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจฐานราก สู่บทบาท ‘วิศวกรสังคม’

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์การศึกษาไทย และของชาวราชภัฏทั่วประเทศ โดยเมื่อปี 2535 ในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนาม สถาบันราชภัฏ แทน วิทยาลัยครู

 

ย้อนเส้นทาง วิทยาลัยครู ก่อนปี 2535 อยู่ในสังกัดกรมการฝึกหัดครู(กฝ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)วิทยาลัยครูทั่วประเทศปฏิบัติภารกิจภายใต้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ที่มีสาระสำคัญคือยกฐานะวิทยาลัยครูให้ผลิตครูได้ถึงระดับปริญญา และ พ.ร.บ.วิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ที่มีสาระสำคัญคือกำหนดบทบาทให้วิทยาลัยครูจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองท้องถิ่น ทำให้วิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่งได้มีการพัฒนารุดหน้าไปทุกๆด้าน 

 

จากเดิมวิทยาลัยครู ผลิตครูในระดับประกาศนียบัตร ได้พัฒนาตนเองจนถึงขั้นผลิตครูระดับปริญญาบัณฑิต อันเป็นบุคคลระดับมันสมองของประเทศ

 

ต่อมามีการพัฒนาไต่ระดับถึงขั้นผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ ทั้งศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่คนทั่วไปยังคงยึดติดว่าวิทยาลัยครูผลิตบัณฑิตเฉพาะสายครูเท่านั้น และเข้าใจผิดว่าบัณฑิตจากวิทยาลัยครูจะต้องประกอบวิชาชีพครูเพียงอย่างเดียว

 

บัณฑิตที่จบการศึกษาในสายวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ขาดโอกาสในการได้งานทำ ก่อให้เกิดความ น้อยเนื้อต่ำใจ จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของสังคม ด้วยภาพจำวิทยาลัยครู ต้องผลิตครูเท่านั้น
 

กรมการฝึกหัดครู (กฝ.) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ดำริที่จะขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง โดยขอพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครู และเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะสม จึงได้ระดมสมองคิดหาชื่อใหม่ที่ดีที่สุดส่งขึ้นไปเพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นนามใหม่แทนวิทยาลัยครู

 

ว่ากันว่า มีการเสนอหลายชื่อ แต่คำว่า สถาบันราชพัฒนา เป็นคำที่ถูกใจคณะกรรมการมากที่สุด กรมการฝึกหัดครูจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของวิทยาลัยครู และขอพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันราชพัฒนา หรือ ชื่ออื่นใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน 

 

ในที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม สถาบันราชภัฏ แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง 

 

ราชภัฏ เป็นคำศัพท์ที่ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัยและทรงสรรหาด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของวิทยาลัยครูอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้

 

ราชภัฏ เป็นศัพท์โบราณ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ข้าราชการ หมายถึงปราชญ์ของพระราชา นับได้ว่า “ราชภัฏ” นี้เป็นคำสูงส่ง เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งชาว มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สมควรจะเทิดไว้เหนือเกล้าและจงรักภักดีด้วยการตั้งปณิธานที่จะประพฤติ และปฏิบัติหน้าที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สืบไป


เวลาผ่านไป ร่วม 31 ปี “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” จากเดิมมี 36 แห่ง และเพิ่มมาอีก 5 แห่งรวมเป็น 41 แห่ง ในยุค สุขวิช รังสิตพล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)

 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่แปรสภาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยนอกระบบ มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคลากร บริหารเงินงบประมาณ ผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้คู่ปฏิบัติจริง

 

38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดั่งปรากฏในหลายสถาบันจากเดิมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โอนย้ายมาอยู่ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

 

กับบทบาทที่กระแสสังคมเรียกร้อง วิศวกรสังคม เปิดหลักสูตร และคณะวิชาที่ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ทั้งผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน  เป็นที่พึ่งของประชาชน ช่วยขับเคลื่อนครอบครัวเกษตรกร ครอบครัวแรงงาน ในระดับเศราฐกิจฐานรากของสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กินดี มีสุข สุขภาพแข็งแรง

 

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ