ข่าว

ชวนชม "ไมโครฟูลมูน" ดวงจันทร์เต็มดวง ไกลโลกที่สุดในรอบปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

NARIT ชวนชม "ไมโครฟูลมูน" ดวงจันทร์เต็มดวง ไกลโลกที่สุดในรอบปี ตั้งแต่คืน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ - รุ่งเช้า 6 กุมภาพันธ์ 2566

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ได้โพสต์ข้อความ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 01:30 น. จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวง" ไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ "ไมโครฟูลมูน" (Micro Full Moon) มีระยะห่างจากโลก 405,818 กิโลเมตร

 

 

เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือช่วงเย็นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:02 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ดวงจันทร์เต็มดวง จะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

 

ดวงจันทร์ โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็น ดวงจันทร์เต็มดวง ในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกมีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์  

 

 

ทั้งนี้ ขณะที่ ดวงจันทร์ อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ แต่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ในระยะทางที่ไกลโลกมากที่สุดและเป็น ดวงจันทร์เต็มดวง พอดีนั่นเอง 

 

สำหรับปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 ถึง เช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นอกจากนี้ยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon) จึงเรียกว่า "ซูเปอร์บลูมูน" (Super Blue Moon) มีระยะห่างจากโลก 357,334 กิโลเมตร  ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

 

 

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

ไมโครฟูลมูน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ