
'กกท.' หนุนจุดยืน 'คณะกรรมการโอลิมปิก"ระงับส่งแข่งขัน"มวยไทย" ใน ซีเกมส์
ผู้ว่ากกท. ระบุการที่ประเทศไทย โดย "คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย" ไม่ส่ง "มวยไทย" ไปแข่งขันใน"ซีเกมส์" ที่มีกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกระบวนการ เพราะแต่ละประเทศสามารถแสดงออกทางจุดยืนของตัวเองได้ หากเห็นว่าการแข่งขันกีฬาชนิดนั้น มีเงื่อนไข
ประเทศไทย โดย คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานภายใต้ความดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ( ไอไอซี ) ได้แสดงจุดยืน ด้วยการไม่ส่งนักกีฬาทีมขาติไทย ในชนิดกีฬา"มวยไทย " เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ที่มีประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพแข่งขัน ระหว่าง 5-17 พฤษภาคม การตัดสินใจดังกล่าว ของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า กัมพูชา เจ้าภาพดำเนินการแข่งขัน โดยไม่ได้อิง สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่ทำหน้าที่ในการกำกับการแข่งขัน"มวยไทย" หรือ "มวย" MUAY ในซีเกมส์ อีกทั้งประเทศเจ้าภาพ ยังเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจาก "มวย" เป็น "กุนขแมร์" ทำให้ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืน ด้วยการไม่ส่งนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าแข่งขันในกีฬาชนิดนี้ ขณะเดียวกัน การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) หน่วยงานภาครัฐก็สนันสนุนท่าทีดังกล่าว
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) ระบุว่า การแสดงท่าทีของประเทศไทย โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในประเด็นไม่ส่งนักกีฬามวยเข้าแข่งขัน " มวยไทย" หรือ "MUAY" ใน "ซีเกมส์" เป็นสิทธิในการแสดงออกของแต่ละประเทศ ที่สามารถทำได้หากประเมินแล้วว่า การในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้รู้สึกได้ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกรณีของกีฬา "มวย" ในซีเกมส์ ที่ประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ เงื่อนไขที่ทำให้ประเทศไทย โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ตัดสินใจไม่ส่ง
คือการที่กัมพูชา จัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ โดย สหพันธ์กุนขแมร์นานาชาติ (เคไอเอฟ) จากที่บทบาทในการจัดการแข่งขัน หรือการแข่งขันต้องอยู่ภายใต้ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) ที่อยู่ในกำกับของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ดังนั้นเมื่อกระบวนการในการจัดการแข่งขันผิดไปจากแนวทาง ประเทศไทย ก็สามารถแสดงออกแบบใด แบบหนึ่งได้
"ผมขออธิบายแบบนี้ บทบาทของการกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) เราทำหน้าที่ในการสนับสนุนนักกีฬา สนับสนุนสมาคมกีฬา ส่วนการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน เป็นบทบาทของ คณะกรรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ดังนั้น การทำงานจึงแยกส่วนกัน กกท. ไม่เข้าไปแทรกแซง การตัดสินใจจะส่งหรือไม่ ส่งเป็นสิทธิขาดของทางคณะกรรมการโอลิมปิก และประเด็นที่ไทยไม่ส่ง ก็ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ไทย หรือ กัมพูชาไม่สบายใจ เพราะในทางปฏิบัติ ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน เรามักจะเห็นเสมอว่า กีฬาบางอย่างจัด กีฬาบางอย่างไม่จัด ซีเกมส์ ที่เวียดนาม มี แต่ซีเกมส์ ที่กัมพูชา ไม่มี นี่คือของเอกสิทธิของชาติเจ้าภาพในการแข่งขัน "
"ในเมื่อประเทศไทย โดยคณะกรรมการโอลิมปิก ประเมินแล้วว่าไม่เห็นสมควรที่จะส่ง กกท. ก็สนับสนุนท่าที ในมุมของกกท. จากประสบการณ์ซีเกมส์ ที่เวียดนาม เป็นเจ้าภาพ กับซีเกมส์ ครั้งล่าสุด ที่กัมพูชา กำลังจะเป็นเจ้าภาพ ต้องยอมรับว่า ครั้งนี้ที่เห็นชัดเจนว่า เป็นเงื่อนไขก็คือ ชนิดกีฬามวย อย่างไรก็ตามในส่วนของกีฬามวยไทย กระบวนการเตรียมนักกีฬา ทางสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ยังคงดำเนินการไปตามปกติ เพราะ ไทย ยัง มีกีฬามวยไทย ในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-17 พฤศจิกายน 2566 โดยมีกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี เป็นเจ้าภาพ" ดร.ก้องศักด ระบุ
อนึ่งกระบวนการในการบรรจุ กีฬามวย ในซีเกมส์ ที่มีประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ
เดิมมีการกำหนดมวยไทย ( MUAY ) แข่งขันในซีเกมส์ 2023 รวมทั้งหมด 17 เหรียญทอง กระบวนการจัดแข่งขันเดิม กัมพูชารับรองให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) เป็นผู้จัดการแข่งขันอยู่ แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นสหพันธ์กุนขแมร์นานาชาติ (เคไอเอฟ) ดูแลแทน ประเด็นการจัดแข่งขันของกัมพูชา ยังถูกระบุว่า ไม่ผ่านการรับการรับรองจากสหพันธ์ ที่ได้รับการรับรอง โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) เท่ากับว่า จัดแข่งขันโดยไม่ได้รับการรับรองในระดับสากล
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย