ข่าว

ธรรมาภิบาล กับ กระบวนการสรรหา 'ผู้นำ' ในมหาวิทยาลัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ผู้นำ' ในมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม มีทั้งผ่านการสรรหา และผ่านการเลือกตั้งของประชาคม ใครได้เสียงข้างมาก ได้เป็นอธิการบดี หรือ คณะบดี แต่สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งไม่เป็นเช่นนั้น

มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างพื้นฐานการพัฒนากำลังคนของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะความรู้ ความสามารถ แต่ต้องมีทักษะที่จำเป็น และเสริมสร้างให้เป็นคนดี มีวินัยด้วย ซึ่งก่อนจะเป็น“เบ้าหลอม”ให้เยาวชนสู่จุดนั้น มหาวิทยาลัยเองต้องมี“หลักธรรมาภิบาล”ของตนที่มั่นคงเสียก่อน ทั้งหลักโปร่งใส เปิดเผย หลักการมีส่วนร่วมและหลักคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“ผู้นำ” ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้บริหาร” โดยเฉพาะตำแหน่ง "อธิการบดี" และ "คณบดี" จะต้องเป็นต้นแบบ

แต่การได้ ผู้นำ ของมหาวิทยาลัยในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน บางแห่งเปิดให้ประชาคมมีส่วนร่วมโดยเลือกตั้ง บางแห่งใช้กระบวนการสรรหา และพบว่ามีปัญหาฟ้องร้องอยู่เสมอมา โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา เหตุเป็นเพราะอะไรทั้งที่แต่ละแห่งมีข้อบังคับที่ดูเหมือนจะรัดกุม การเข้าสู่ตำแหน่งอาทิ ตำแหน่งคณบดี ก็จะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะไว้ มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯขึ้น เพราะจะให้สภาพิจารณาโดยตรงก็ใช่ที่ จึงกำหนดให้กรรมการสรรหามีหน้าที่กลั่นกรองผู้ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้สภาฯพิจารณาต่อไป 

 

และในบางแห่งภายใต้ข้อบังคับ ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา มีอำนาจออกหลักเกณฑ์และการให้คะแนนแก่ผู้เข้ารับการสรรหา โดยพิจารณาจากการแสดงวิสัยทัศน์และคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กำหนด หากดูตามกระบวนการก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามระบบ 

 

“คำถาม” แล้วทำไม จึงมีการพูดถึงเสมอว่า“กระบวนการสรรหามีปัญหา”มาโดยตลอด ระบบดูเหมือนดีแต่“คนปฏิบัติ”ซึ่งจะเป็น“เบ้าหลอม”ให้เยาวชนเป็นคนดี น่าจะมีปัญหา เพราะเมื่อเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย“ผู้นำ”ปัจจุบัน มักจะขอให้กรรมการ สภาฯเลือกบุคคลที่ตนต้องการ โดยมิได้สนใจการกลั่นกรองของกรรมการสรรหา แม้ว่าคะแนนของผู้นั้นมีคะแนน“ต่ำกว่า”คะแนนของอีกคนตามที่คณะกรรมการสรรหาฯได้พิจารณากลั่นกรองไว้อย่างถี่ถ้วนแล้ว

 

“สุดท้าย”ก็เลือกบุคคลที่มี“คะแนนต่ำกว่า”ได้เข้าสู่ตำแหน่ง เสมือนคณะกรรมการสรรหาฯ“ไม่มีความหมายอะไรเลย” คำถาม!อีกครั้ง แล้วสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯเพื่ออะไร มิสู้ให้ผู้เข้ารับการสรรหามาแสดงวิสัยทัศน์ตอบคำถามในสภาฯและคัดเลือกเลยไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งไม่สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่กระทบต่อ“ความรู้สึก”ของคณะกรรมการสรรหาฯ และเสมือนไม่ให้เกียรติกันด้วย ทั้งที่สภาฯตั้งมาเองกับมือ ให้ทำหน้าที่สรรหาแทน

 

จริงๆเมื่อพิจารณาโดยหลักแล้ว“เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯและกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา มีอำนาจออกหลักเกณฑ์และการให้คะแนน ดังนั้นคะแนนของคณะกรรมการสรรหาฯจึงเป็นสาระสำคัญในการใช้ดุลพินิจของสภามหาวิทยาลัยในการเลือกคนด้วย”

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พยายามสร้างแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง แต่การปฏิบัติของ“ผู้นำ”แต่ละมหาวิทยาลัย จะเป็นที่ยอมรับเชื่อถือและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมต้องตรวจสอบ เพราะ“อำนาจน่ากลัวเสมอ ถ้าใช้ไม่เป็น"

 

 แนะ 4 ทางเลือกผู้นำในมหาวิทยาลัย

  1. เน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร เลือกผู้เหมาะสมกับการเป็นผู้นำด้วยหลักประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้ง
  2. ใช้หลักการเดิม โดยให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการสรรหาและต้องถือผลคะแนนสูงสุด(กรณี 2 คนขึ้นไป)ของการสรรหาเป็นที่ตั้ง 
  3. สภามหาวิทยาลัยสรรหาเอง โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการเพื่อสรรหา หรือ 
  4. ปล่อยให้เป็นแบบที่เป็นอยู่ ตามยถากรรมของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

    วอนสังคมไทยร่วมกันพิจารณาเพื่อให้มีธรรมาภิบาลในกระบวนการสรรหา "ผู้นำ" ในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ