ข่าว

ทำความรู้จัก นาอูรู ประเทศเล็ก สวรรค์ฟอกเงิน

ทำความรู้จัก นาอูรู ประเทศเอกราชขนาดเล็ก ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนจะตกต่ำขีดสุด และกลายเป็นสวรรค์ของการฟอกเงินในปัจจุบัน

จากประเทศที่ไม่เคยอยู่ในความรับรู้ จนมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยในวงกว้าง นับตั้งแต่ การเปิดเผยถึงการมีอยู่ของ กลุ่มทุนจีนสีเทา ซึ่งโยงไปถึงการเรียกรีบผลประโยชน์ของ เจ้าหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ ตำรวจ ชุดที่เข้าตรวจสอบ บ้านพักที่ระบุว่าเป็นของ สถานกงสุลใหญ่นาอูรู และทำให้มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อกรณีดังกล่าว

ธงชาตินาอูรู จากวิกิพีเดีย

นาอูรู มีชื่อทางการที่ระบุอยู่ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศว่า  สาธารณรัฐนาอูรู เป็นประเทศขนาดเล็กลำดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศโมนาโกและนครรัฐวาติกัน เป็นจุลรัฐในภูมิภาคไมโครนีเซีย ทวีปโอเชียเนีย ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะบานาบาของประเทศคิริบาสเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด โดยอยู่ห่างกัน 300 กิโลเมตร

ภาพมุมสูงของ นาอูรู ภาพจาก วิกิพีเดีย

มีจำนวนประชากรที่ระบุไว้เพียง 10,670 คน จึงทำให้ประเทศนาอูรูเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากนครรัฐวาติกัน ตามการยืนยันข้อมูลของวิกิพีเดีย 
 

จากข้อมูลพื้นหลัง ของ นาอูรู ที่มีระบุอยู่ใน เว็บไซต์ The World Factbook ของ สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา ( CIA ) เขียนไว้ว่า การกำเนิดของประเทศแห่งนี้ไม่ชัดเจนนัก แต่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม ทว่าภาษาของพวกเขาไม่เหมือนกับภาษาอื่นในมหาสมุทรแปซิฟิก

ทำความรู้จัก นาอูรู ประเทศเล็ก สวรรค์ฟอกเงิน

เกาะนี้ถูกยึดครองโดยเยอรมนีในปี พ.ศ. 2431 และเริ่มมีการขุดแร่ฟอสเฟตในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยสมาคมเยอรมัน-อังกฤษ นาอูรูถูกยึดครองโดยกองกำลังของออสเตรเลียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต่อมาได้กลายเป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการยึดครองอย่างโหดร้ายโดยญี่ปุ่น  นาอูรูกลายเป็นดินแดนที่สหประชาชาติให้การรับรองสถานะ รวมทั้งได้รับเอกราชในปี 1968 และเข้าร่วม UN ในปี 1999 ในฐานะสาธารณรัฐที่เป็นเอกราชที่เล็กที่สุดในโลก


โลกรู้จัก นาอูรู ครั้งแรก เมื่อ จอห์น เฟิร์น นักล่าวาฬชาวอังกฤษเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงเกาะนาอูรูในปี ค.ศ. 1798 โดยเขาได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะพลีแซนต์" (Pleasant Island) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1830 เป็นต้นมา ชาวนาอูรูได้ติดต่อกับเรือล่าวาฬของชาวตะวันตก ซึ่งเรือล่าวาฬเหล่านี้จะแสวงหาน้ำจืดจากนาอูรูเพื่อเก็บไว้ใช้ในเรือ
 

นาอูรู เป็นประเทศ แต่ไม่มีเมืองหลวงอย่างชัดเจนในทางกฎหมาย ยึดถือเอาว่า ยาเรน เป็นเมืองหลวงทางพฤตินัย หรือ อย่างไม่เป็นทางการ เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล สนามบิน มี 14 เขตการปกครอง มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล รัฐสภานาอูรูเป็นระบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิก 19 คน มาจากการเลือกตั้งทุกสามปี รัฐสภาจะเลือกประธานาธิบดีจากสมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งมีสมาชิก 5–6 คน นาอูรูไม่มีโครงสร้างพรรคการเมืองอย่างเข้มแข็งเท่าใดนัก

โดยตัวแทนส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระ ซึ่งเห็นได้จากสมาชิกรัฐสภาในสมัยปัจจุบันมีสมาชิกที่มาจากผู้แทนอิสระถึง 15 คนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 19 คน สำหรับพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันมี 4 พรรค ได้แก่ พรรคนาอูรู พรรคประชาธิปไตยแห่งนาอูรู นาอูรูเฟิร์สและพรรคกลาง แม้จะมีพรรคการเมือง แต่การร่วมรัฐบาลในนาอูรูนั้นมักขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางครอบครัวมากกว่าพรรคการเมืองที่สังกัด


นาอูรู ไม่มีกองทัพในการป้องกันประเทศ แต่อาศัยความร่วมมือกับ ประเทศออสเตรเลีย มีเพียงกำลังตำรวจขนาดเล็กในการรักษาความสงบ ความช่วยเหลือเหล่านี้จากออสเตรเลีย ครอบคลุมไปถึงเรื่องการเงิน การสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งก็ต้องแลกด้วยการใช้ นาอูรู เป็นสถานที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยที่พยายามลักลอบเข้าออสเตรเลีย แต่ในปัจจุบันนั้น การดำเนินการดังกล่าวได้ยุติลง เนื่องจากมีการประท้วงเกิดขึ้นและมีผู้เผาตัวเองประท้วงรัฐบาลออสเตรเลีย


ในอดีต นาอูรู เคยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณืไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั่งมีการค้นพบแร่ธรรมชาติ ที่เรียกว่า แร่ฟอสเฟต ซึ่งแร่ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการเกษตร

จากข้อมูลที่เรียบเรียงโดย แฟนเพจ The Wild Chronicles - ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก หัวข้อ เหตุวิปริตในนาอูรู ได้อธิบายภาพรวมและความล่มสลายได้อย่างชัดเจน กล่าวโดยสรุปว่า มีการขุดหาแร่ฟอสเฟตจำนวนมากในนาอูรู เรียกได้ว่า การขุดหาแร่ดังกล่าวทำให้ระบบนิเวศธรรมชาติทั้งหมด เสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างสิ้นเชิง ในการส่งออกแร่ฟอสเฟตของนาอูรู ทำให้ประเทศเล็ก ๆ นี้ ร่ำรวยมหาศาล เหมืองแร่สร้างเงินให้ประชากรระบุเป็นเงินไทยว่าได้ราว 64,000 ล้านบาท

ด้วยความร่ำรวยอย่างมาก ทำให้ประชากรนาอูรู ใช้จ่ายอย่างเต็มที่ มีการสั่งซื้อของใช้ฟุ่ยเฟือยมากมายเข้ามาในประเทศ รวมทั้งมีความนิยมการบริโภคอย่างสูงแบบในออสเตรเลีย ซึ่งนำมาสู่การเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวานที่มากที่สุดในโลก 


จนกระทั่ง แร่ฟอสเฟต ได้หมดลงไปจากเกาะแห่งนี้ จากประเทศร่ำรวย ก็กลายเป็นประเทศที่ยากจนลงในพริบตา เนื่องจากการถลุงขุดแร่ จนพื้นที่การเกษตรเสียหายหมด  เว็บไซต์ https://www.moneybuffalo.in.th/ ได้อธิบายถึงทางออกของนาอูรู ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า เมื่อแร่หมดไป ทางการนาอูรู จึงคิดวิธีแก้ปัญหาการเงิน ด้วยการตั้งธนาคารขึ้น ซึ่งเป็นธนาคารที่ใช้สำหรับการฟอกเงินโดยเฉพาะ โดยมีนโยบายดึงดูดลูกค้าที่ว่า ไม่ตรวจสอบประวัติส่วนตัวของลูกค้าและไม่บันทึกแหล่งที่มาของเงินฝาก จึงทำให้มองได้ว่า เป็นที่ดึงดูดเม็ดเงิน โดยเฉพาะ เงินของอาชญากร ต่างๆ 


และมากไปกว่านั้น นาอูรู ยังเปิดให้นักลงทุนสามารถมาซื้อที่ดินในราคาถูกได้อีกด้วย มีการระบุอย่างมีประเด็นว่า ถ้ามองภาพรวมของนาอูรูแล้วนั้น เมื่อไม่มีทรัพยกร รวมทั้งแร่ที่เคยมีราคาในอดีต กลุ่มทุน หรือ นักลงทุนที่เข้ามานั้น คาดการณ์กันว่า เป็นพวกที่เข้ามาตั้งบริษัทเพื่อฟอกเงินนั้นเอง มีการเปิดเผยตัวเลขนับตั้งแต่ปี 2000 เป้นต้นมาระบุว่า มีเม็ดเงิน 6 หมื่นล้านบาท ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของนาอูรู 

จึงไม่ผิดนัก ที่จะมีกลุ่มทุนจีนสีเทา เข้าไปใช้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วยเช่นกัน!

ข่าวยอดนิยม