ข่าว

เปิดหลักเกณฑ์ ขอ "รถนำขบวน" จากตำรวจทางหลวง ต้องทำยังไง บุคคลใดมีสิทธิ์บ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดหลักเกณฑ์ ขอ "รถนำขบวน" จาก ตำรวจทางหลวง ต้องทำยังไง บุคคลใดมีสิทธิ์บ้าง หลังโซเชียลถกเถียงหนัก "เที่ยวแบบvvip" ทำแบบนี้ได้จริงหรือ

จากประเด็นคลิปฉาวที่เป็นกระแสร้อนแรงบนโลกโซเชียล กรณีที่ นักท่องเที่ยวจีน โพสต์คลิป "เที่ยวแบบvvip" ได้รับบริการสุดพิเศษ มี "รถนำขบวน" มารับพาไปส่งถึงโรงแรมที่พัทยานั้น

 

 

ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงกรณีนี้ โดยได้มีคำสั่งย้าย 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาปฏิบัติหน้าที่ ศปก.บก.จร. และอยู่ระหว่างการพิจารณาลงโทษ

 

ในส่วนของ "รถนำขบวน" นั้น ทาง ตำรวจทางหลวง ได้เคยออกมาบอกถึงขั้นตอนการขอรถนำขบวน ซึ่งมีดังนี้

 

การนำขบวนโดยการร้องขอเป็นครั้งๆ ไป

 

*เป็นกรณีตามความจำเป็นแห่งโอกาสสำหรับบุคคล โดยจะต้องร้องขอและได้รับอนุญาตตามระเบียบ

 

- ขบวนที่มีความจำเป็นต้องใช้ตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวนหรือความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน

 

- ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการที่มีรถหลายคัน หรือกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีหน้าที่ต่างๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัตืภารกิจสำคัญทางราชการ

 

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา

 

1. เส้นทางที่จะไปเป็นเส้นทางอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

 

2. มีจำนวนรถในขบวน รถโดยสารไม่ประจำทาง 8 คัน หรือ รถยนต์เก๋ง 10 คัน หรือ รวมกัน 10 คันขึ้นไป

 

3. ต้องมีรถวิทยุตรวจการณ์เพียงพอ ไม่กระทบภารกิจหลักหรือการถวายความปลอดภัยฯ , คำนึงถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในภารกิจประจำด้วย

 

 

เอกสารที่ใช้และเหตุผลประกอบการขอรถนำขบวน

 

- หนังสือจากหน่วยงาน เรียนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง

 

- แสดงเหตุผลความจำเป็น จำนวนรถในขบวน วันเวลาและส้นทาง ต้นทาง-ที่หมาย

 

- ผู้ประสานงานพร้อมหมายเลขโทรศัพท์

 

ตำรวจทางหลวง

 

 

สำหรับการยื่นขออำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยว จาก ตำรวจท่องเที่ยว นั้น สามารถทำได้ แต่ต้องมีคำสั่งการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีของคนเจ็บ, คนป่วย, วีไอพี ที่เป็นแขกรัฐบาล หรือเอกชนที่มาความสำคัญ ที่สร้างผลกระทบในความเป็นบวกกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย 

 

 

อาจมีกรณีพิเศษได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ทำรายได้หลักของประเทศ หรือ วีไอพี ที่เดินทางเข้ามาประชุมในประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีรายงานขออนุญาตตามกรณีดังกล่าวแล้ว ทางตำรวจระดับผู้บังคับการหน่วยงานก็สามารถเซ็นต์คำสั่งอนุมัติได้ทันที

 

สำหรับหลักเกณฑ์การใช้ "รถนำขบวน" ของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เสนอ หลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย ดังนี้ 

 

นอกจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรถนำขบวนเป็นปกติแล้ว บุคคลสำคัญและนักการเมืองตำแหน่ง ที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้ มีดังนี้ 

 

1. กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ใช้รถตำรวจเป็นประจำ มีดังต่อไปนี้

 

- นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รัฐบุรุษ องคมนตรี 

 

- สมเด็จพระสังฆราช

 

- รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายบริหาร

 

 

2. กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นครั้งคราว มีดังต่อไปนี้

 

- ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ ประมุขรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

 

- ข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าขึ้นไป

 

การอนุญาตเป็นครั้งคราว ผู้บังคับการตำรวจจราจรหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจจราจรเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

 

 

3. กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร มีดังต่อไปนี้

 

- บุคคลใช้รถนำประจำ ตามข้อ 1 

 

- บุคคลใช้รถนำเป็นครั้งคราวตามข้อ 2 

 

- การขออนุญาตผู้บังคับการตำรวจทางหลวงหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

 

ข้อยกเว้น

 

ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขบวนฝ่ายทหารเอง แต่วิธีการใช้รถนำของฝ่ายทหารดังกล่าว ให้ใช้หลักเกณฑ์วิธีการใช้รถนำของฝ่ายตำรวจ เช่น การใช้ไฟสัญญาณแสงแดงวับวาบ เสียงไซเรน 

 

บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญและเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วยังคงให้ใช้รถตำรวจนำขบวนได้

 

- กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำ คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

 

- กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร ใช้ประจำ คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

 

 

การใช้รถนำขบวนของรัฐมนตรี

 

รัฐมนตรีควรพิจารณาใช้รถตำรวจนำขบวนตามความจำเป็นและเร่งด่วนตามภารกิจของทางราชการเป็นกรณี ๆ ไป โดยแจ้งให้ทางฝ่ายที่มีหน้าที่จัดรถตำรวจ
นำขบวนทราบเป็นการล่วงหน้าไม่ควรใช้ในกิจส่วนตัว

 

 

การใช้รถนำขบวนในการรับรองแขกต่างประเทศ

 

การรับรองแขกต่างประเทศที่จะสามารถใช้รถนำขบวนได้ ต้องมีตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งของผู้มีสิทธิใช้รถนำขบวน ทั้งการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540

 

ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ