ข่าว

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท

21 ม.ค. 2566

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สถานที่ท่องเที่ยว ที่มากปมปัญหา ข้อพิพาทที่ดิน ระหว่าง ชาวเลดั้งเดิม กับ เอกชน ก่อน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ลงพื้นที่ 22 ม.ค. นี้

ปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ดูเหมือนว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ได้ประกาศเตรียมลงพื้นที่ ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ พร้อมประกาศไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ในพื้นที่

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมหารือเรื่อง การแก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาท ในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงไปทำงานเชิงลึกถึงที่มาที่ไปที่ดิน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีมานานแล้วจริงๆ และมีการดำเนินคดีแล้วจริงๆ แต่เราก็ยังไม่ยอมแพ้ จะดำเนินการให้ถึงที่สุด ขอให้มั่นใจได้ว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ในประเทศของเรา และยืนยันว่ามีการพิจารณาทั้งหมดเรื่องเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดิน ประวัติตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความยุติธรรมไม่ได้อยู่แค่บนเอกสารหลักฐานที่ปรากฎอยู่เท่านั้น แต่มีที่มาที่ไปของเอกสารหลักฐานด้วย ว่ามาโดยชอบโดยถูกต้องหรือไม่อย่างไร โดยการสืบลึกไปตั้งแต่อดีตทุกอย่างว่าสิทธิ์ใครที่ควรได้ก็ควรได้ สิทธิ์ใครไม่ควรได้ก็ไม่ควรได้ ขอให้มั่นใจ จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 

กลุ่ม อุรักราโว๊ย ทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาบนเกาะหลีเป๊ะ

ก่อนการประกาศของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และการประชุมประชุมหารือเรื่อง การแก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาท ในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า อุรักราโว๊ย ชาวเลแห่งหลีเป๊ะ ได้เคลื่อนไหวทำกิจกรรมรูปแบบต่างๆเพื่อแสดงออกถึงปัญหาที่ค้างคามานาน ในเรื่องการอยู่อาศัยของชนพื้นถิ่น กับ โรงแรม ที่พัก นักลงทุน 

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท

ชาวเล เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ  มอแกน  มอแกลน  และอูรัคลาโว้ย มีภาษาพูดเป็นของตนเอง  แต่ไม่มีภาษาเขียน  มีหลักฐานว่าพวกเขาอยู่อาศัยและหากินในท้องทะเลแถบอันดามันมานานไม่ต่ำกว่า 300 ปี  ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 43 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล ในปี2563 ได้มีการประเมินจำนวนประชากรชาวเล มีรวมประมาณ 12,241 คน

เกาะหลีเป๊ะ

ปี 2452 จุดเริ่มต้นของการประกาศอย่างชัดเจนในคราวที่ปักหลักพรมแดนระหว่างประเทศสยามหรือประเทศไทยในเวลาต่อมา กับมาเลเซียซึ่งบรรพบุรุษของชาวเกาะหลีเป๊ะ ได้ประกาศยืนยันชัดเจนว่า จะขออยู่กับสยาม และสถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ ในด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง
 

2497 ทางการในสมัยนั้น ได้ออก พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อจัดระเบียบการถือครองที่ดินและมีผลให้เจ้าของที่ดินต้องออกโฉนดเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ และบนเกาะหลีเป๊ะ ชาวเกาะรายส่วนไม่ได้ทำการร่วมออกโฉนด ทำให้นำมาสู่ปัญหาเรื่องสิทธิของที่ดินในปัจจุบัน


ในปี 2517 มีการประกาศให้พื้นที่เกาะ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา 

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท
ย้อนกลับไปสู่ปมปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ที่มีหลายประเด็น เช่น ในปี 2557 เจ้าของที่ดิน ได้สร้างประตู รวมทั้งกำแพงปิดกั้นชายหาด บนพื้นที่ 1 ไร่ ปี 2561 มีกรณีฟ้องร้องของโรงแรมในพื้นที่ กับชาวบ้าน ให้รื้อกระท่อมซ่อมเรือออกไป โดยในการฟ้องร้องครั้งนั้น ชาวบ้านแพ้คดี เนื่องจากไม่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน 
ที่ผ่านมา ภาครัฐ ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาท เช่น  คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามโนบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อ 2 มิ.ย. 2553 ใน 2 มาตรการคือ
1. มาตรการระยะสั้น ระยะเวลา  6 - 12 เดือน  มีเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย  การประกอบอาชีพ การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข  การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมการศึกษา การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมภาษาวัฒนธรรมท้องถิ่น การสนับสนุนและส่งเสริมสื่อพื้นบ้านของชาวเล การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเครือข่ายชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม  

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท

2. มาตรการพื้นฟูระยะยาว ระยะเวลา 1-3 ปี  เน้นเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะจำเพาะ  ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล

ย้อนเรื่องราว เกาะหลีเป๊ะ สตูล แหล่งท่องเที่ยว มากข้อพิพาท

แม้จะมีการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น บนเกาะหลีเป๊ะ แต่ก็ยังมีข้อพิพาทเกิดขึ้น 25 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา เจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่ง บนเกาะหลีเป๊ะ ได้ทำการปิดเส้นทางเข้าออกของ โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงทำให้ชาวเลบนเกาะต้องทำการเรียกร้องให้ตรวจสอบสิทธิ์ใหม่ทั้งหมดของเกาะหลีเป๊ะ  เนื่องจากมีการระบุข้อมูลว่า พื้นที่ของโรงเรียนบ้านเกาะอาดังนั้น เป็นพื้นที่ราชพัสดุ มีการระบุชื่อผู้บริจาคที่ดินคือ นายบรรจง อังโชติพันธุ์ หรือกำนันจง ซึ่งได้แต่งงานกับนางดารา ลูกของโต๊ะฆีรี ผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ เป็นผู้บริจาคที่ดิน เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งานให้กับกรมธนารักษ์  ซึ่งทำให้ชาวเลพื้นถิ่น พยายามร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างชัดเจน 

ต้องจับตาวันที่ 22 ม.ค. นี้ ปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ จะเดินไปในทิศทางใดต่อไป.