การส่งสัญญาณซึ่งมาจาก จานนี่ อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า
โดยมองไปถึงโอกาสที่ทีมจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้ง ไทย และ เวียดนาม จะยกระดับตัวเอง ไปสู่การเป็นชาติที่ทำผลงาน จนได้รับโควตาในการเข้าร่วมการแข่งขัน "ฟุตบอลโลก 2026" ซึ่งมี แคนาดา ,เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพในอีก 4 ปี นับจากนี้ การส่งสัญญาณดังกล่าว น่าจะการเป็นปลุกกระแสให้กับบรรดาชาติอาเซียน รวมไปถึงชาติในเอเชีย ต่อการสร้างผลงานเพื่อโอกาสที่จะร่วมเป็น 48 ทีมสุดท้าย ที่เข้าร่วมมหกรรมกีฬาที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของโลก อันหมายถึง"ฟุตบอลโลก 2026"
ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ปลุกกระแสเรื่องนี้ ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย เป็นประธานในการมอบถ้วยชนะเลิศ ให้กับทีมชาติไทย ซึ่งทำผลงานชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรือ ฟุตบอลอาเซียนคัพ ทัวร์นาเมนต์ที่มี 10 ชาติ เข้าร่วมแข่งขัน จัดโดยสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ องค์กรย่อยของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ เอเอฟซี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทีมชาติไทย ในยุคของ นวลพรรณ ล่ำซำ ทำหน้าที่ ผู้จัดการทีมชาติ พาทีมชาติไทย เป็นแชมป์ 2 สมัย ในปี 2020 และล่าสุด 2022
คำว่า บอลไทย ไปบอลโลก , ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก กระทั่งแผลงมาเป็น " บอลไทย ไปมวยโลก" คำนิยามที่อธิบายเมื่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลในสนาม คำนิยาม ทั้ง บอลไทย ไปบอลโลก , ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก ถือเป็นสิ่งที่บ่งชี้ หรือสร้างความรู้สึกร่วมให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด ต่อการรอคอยให้ "ฟุตบอลไทย"ได้ก้าวไปสู่เวทีระดับโลกอย่างสมภาคภูมิ น่าสนใจว่าแนวทางให้ทีมชาติไทย ไปฟุตบอลโลก ยังรวมไปถึง
ความร่วมมือระหว่าง ไทย – สิงคโปร์ – อินโดนีเซีย – มาเลเซีย ต่อการร่วมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 เป็น ประเด็นที่ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต่างก็มีท่าทีที่เป็นบวกกับเรื่องนี้ ต่อการเสนอให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2034 อันหมายการได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ในฐานะเจ้าภาพ
นัยยะของ"ฟุตบอลโลก 2026" คือ การเพิ่มจำนวนทีมจากฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 32 ทีม เพิ่มเป็น 48 ทีม โดยชาติในเอเชียจะได้โควต้า 8.5 ทีม กรณีของฟุตบอลโลก 2022 ชาติจากเอเชีย ที่ได้โควตา ประกอบด้วย กาตาร์ (เจ้าภาพ), อิหร่าน, ญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลีย ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สรุปถึงผลงานของทีมชาติไทยในฟุตบอลโลก กล่าวคือ ทีมชาติไทยร่วมแข่งขันครั้งแรกใน ฟุตบอลโลก 1974 รอบคัดเลือก ในปี พ.ศ. 2517 ครั้งแรกและเข้าร่วมตลอดจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่ดีสุดของทีมไทยในรอบคัดเลือก คือ ใน ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก และ ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก
ในฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือกทีมชาติไทย ได้อันดับหนึ่งในรอบแบ่งสาย และผ่านเข้าร่วมเล่นในรอบคัดเลือกรอบสองเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกรอบสองเพื่อเข้าแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ และในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกทีมชาติไทย ได้เข้ารอบไปเล่นรอบสองทันทีและได้อันดับหนึ่ง เข้ารอบสาม แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกรอบสาม เพื่อเข้าแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ส่วนเส้นทางสู่ ฟุตบอลโลก 2022 ทีมชาติไทย จบเส้นทางอยู่ที่รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 2 มีเพียง 9 คะแนนจากการลงสนามทั้งหมด 8 นัด ตามหลัง ทีมจ่าฝูง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ , เวียดนาม และ มาเลเซีย
"เป้าหมายสูงสุดของทุกชาติในอาเซียน คือการไปเล่นฟุตบอลโลก แน่นอนว่าแป้งและพวกเราทุกคนก็ฝันถึงเช่นกัน หลังจากที่เคยเป็นผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยและได้พาบอลหญิง ไปบอลโลกมา 2 ครั้งแล้ว ( 2015 และ 2019 ) ก็อยากจะมีส่วนร่วมสานฝันฟุตบอลชายไปให้ถึงฝันเช่นกัน ซึ่งก็คงต้องปรึกษาแนวทางกับสมาคมฯต่อไป " นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย : ปฏิกริยาภายหลัง ทีมชาติไทย ทำผลงาน แชมป์ฟุตบอลอาเซียนคัพ
ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพ ปัจจุบัน ทำหน้าที่วิทยากรฝึกอบรมฟุตบอลอาชีพ ใหัทัศนะกับ "คมชัดลึก" ว่า คำว่า บอลไทย ไปฟุตบอลโลก หรือ ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก เป็นเสมือนนิยามที่สร้างความรู้สึกร่วมให้กับสังคมไทย นิยามคำนี้ถูกใช้กันมายาวนาน และในฐานะที่อยู่ในวงการฟุตบอลมาตลอด 40 ปี ทั้งบทบาท นักฟุตบอลอาชีพ , นักฟุตบอลทีมชาติ , หัวหน้าผู้ฝึกสอน สโมสรฟุตบอลอาชีพ จนปัจจุบันทำหน้าที่ วิทยากรฝึกอบรมโค้ชฟุตบอลอาชีพ แน่นอนว่าอยากเห็น ฟุตบอลทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จได้ไปฟุตบอลโลก
ที่ผ่านมา กีฬาหลายชนิด สามารถทำผลงานได้ไปแข่งขันในระดับโลก แต่กีฬาฟุตบอล ถือเป็นกีฬาชนิดเดียวที่ยังก้าวไปไม่ถึงความสำเร็จกับคำว่า ได้ไป "ฟุตบอลโลก" ในขณะที่ฟุตบอลทีมหญิงทำได้แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ฟุตบอลถูกวางน้ำหนักกับคำว่าไป ฟุตบอลโลก เพราะกีฬาฟุตบอล เป็นชนิดกีฬาที่เข้าถึงความรู้สึกร่วมของสังคมได้อ่อนไหวมากที่สุด
" ผมอยู่กับฟุตบอลมาทั้งชีวิต และเป็นอีกคนในสังคมที่อยากเห็นความสำเร็จคือ บอลไทยได้ไปฟุตบอลโลก แต่กระบวนการอย่างที่เรารับรู้กันมันไม่ง่าย ผมเชื่อว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย รับรู้ดี ที่ผ่านมาสมาคมกีฬาฟุตบอลในแต่ละยุคสมัย ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มันเป็นเหมือนเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึง เราต้องมาศึกษาว่า การที่ญี่ปุุ่น ประสบความสำเร็จได้ไปฟุตบอลโลก , การที่เกาหลีใต้ ได้ไปฟุตบอลโลก เขามี อะไร ที่เราไม่มี "
"ผมเห็นนักฟุตบอลจากญี่ปุ่น จากเกาหลี ไปอยู่ในลีกฟุตบอลระดับโลก นั่นคือกระบวนการส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีมชาติแข็งแกร่ง กระบวนการทุกอย่าง มันต้องใช้เวลา ต้องวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถจับต้องได้ วันนี้เราไปคว้าแชมป์อาเซียนคัพ 2 สมัย เราภูมิใจ แต่ถ้าในรายการอื่น ที่การแข่งขันมีความเข้มข้น หากทีมชาติไทยผิดหวัง พลาดหวัง ปนิธาน หรือ ความหวังที่จะไป ฟุตบอลโลก มันจะหายไปหรือเปล่า "
" ผมยืนยันว่า ผมอยากเห็นฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก มันเป็นเหมือนเกียรติประวัติครั้งหนึ่งของประเทศไทย แต่ลำพัง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย , คุณแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทย ผมมองว่า ลำพังความทุ่มเท หรือ การให้ความสำคัญ ยังไม่สามารถลดช่องว่าง ที่เราจะไปถึงเป้าหมายได้ วันนี้เราอาจจะมีลูกฮึด เมื่อเราคว้าแชมป์อาเซียน 2 สมัย หากจะไป ฟุตบอลโลก ใน 4 ปี ข้างหน้า ผมคิดว่า พรุ่งนี้ เราต้องทำงานร่วมกันทันที หมายถึงคิดและวางแผน เพราะทุกอย่างต้องไปทั้งระบบ เราจะฝากเรื่องนี้ ให้เป็นภาระคนใดคนหนึ่งไม่ได้ " ไพบูลย์ ระบุ
การตอบสนองอยากเห็นทีมชาติไทย ไปฟุตบอลโลก ถูกจุดประกายจาก มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ต้องการสร้างความสำเร็จให้กับฟุตบอลชายทีมชาติไทย คำถาม ณ เวลานี้ ก็คือ ทุกฝ่ายจะเริ่มลงมือกัน ทำงานเมื่อไหร่ เพื่อไปฟุตบอลโลก 2026
ข่าวที่เกี่ยวข้อง