
ไขข้อสงสัย "สายชาร์จดูดข้อมูล" เสี่ยงน้อยมาก ไม่อันตรายเท่ากับแอปพลิเคชัน
สกมช.ไขข้อสงสัย "สายชาร์จดูดข้อมูล" ดูดเงินในมือถือ เป็นไปได้น้อยมาก ยืนยันดาวน์โหลดแอปพลิเคชันยังอันตรายมากที่สุด
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวระหว่าง จัดงาน “NCSA Press Relations 2023” เพื่อเผยแพร่ผลงานของ สกมช. และเสริมสร้างสัมพันธภาพ
กับสื่อมวลชน พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สกมช.กับการนำพาประเทศรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ถึงกรณีทีมีการแชร์ว่ามีการ USB ดูดเงินจากโทรศัพท์ ว่า จากการพิจารณาข้อมูลที่มีการแชร์นั้น กรณีที่ สาย USB หรือ "สายชาร์จดูดข้อมูล" มีความเป็นไปได้น้อยมากที่มิจฉาชีพจะมีดัดแปลงสายเพื่อที่ใช้ดูดเงินในบัญชีหรือ เพื่อเข้าถึงข้อมูลด้วย สายชาร์จ USB หรือ สาย USB C เพราะสายชาร์จที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มีราคาแพงมากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 4,000 กว่าบาท
อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลด้วย สาย USB หรือสายชนิดอื่น ๆ จะต้องจะต้องทำงานผ่าน WIFI และ แฮกเกอร์ หรือ มิจฉาชีพจะต้องอยู่ใกล้ ๆ กับมือถือจึงจะใช้ "สายชาร์จดูดข้อมูล" ดังนั้นกรณีที่มีการแชร์ว่าเงินในบัญชีหายไป เพราะเสียบสายชาร์จแบต หรือที่ประชาชนหลายคนกังวลว่าต่อไปการซื้อสายชาร์จราคาถูกอาจจะไม่ปลอดภัยต่อข้อมูลในโทรศัพทืมือถือ ถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก
พล.อ.ต.อมร กล่าวต่อว่า อีกทั้งกรณีที่มิจฉาชีพจะให้วิธีการดูดเงิน หรือแฮ็กข้อมูลจาก "สายชาร์จดูดข้อมูล" นั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะกลไกการทำเข้าถึงข้อมูลทำได้ยาก อีกทั้งในปัจจุบันอุปกรณ์ มือถือจะมีการถามทุกครั้งที่เราเสียบสายชาร์จว่าต้องการให้เข้าถึงข้อมูลในมือถือหรือไม่ ดังนั้นกรณีที่เสียบสายชาร์จเข้าไปแล้วจะสามารถเข้าถึงข้อมูลในมือถือเลยเป็นไปได้อยากมาก ตนยืนยันว่าการดาวน์โหลดแอปฯที่ไม่รู้จักหรือแอปฯแปลก ๆ เป็นช่องทางที่อันตรายและทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงมือถือได้ง่ายกว่าการใช้ สาย USB และสายชาร์จรูปแบบอื่น ๆ ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้นและมีการแชร์ข่าว "สายชาร์จดูดข้อมูล" ออกไปเป็นจำนวนมากนั้น จากการพิจารณาเบื้องต้นคาดว่าในเครื่องอาจจะมีแอปฯที่เจ้าของดาวน์โหลดมาหลังจากนั้น แอปฯ ดังกล่าวจะเข้าไปควบคุมฟังก์ชันสำหรับคนตาบอดและสั่งการให้จอดับลง จากนั้นมิจฉาชีพจึงเข้าไปยังบัญชี แอปฯธนาคารและดำเนินการถ่ายโอนเงินโดยที่เจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว ดังนั้น จะต้องมีการนำมือถือไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
พล.อ.ต.อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนจุดที่มีความสุ่มเสียงในกรณีที่มีการเสียบสายชาร์จแล้วอาจจะโดนแฮกข้อมูลนั้นจะอยู่ในบริเวณสนามบิน หรือจุดชาร์จตามที่สาธารณะ แต่ตนยังยืนยันว่ามิจฉาชีพจะต้องอยู่ใกล้มากๆ จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้นความเสี่ยงและความน่ากังวลที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงข้อมูลผ่าน สาย USB สายชาร์จยังไม่น่ากังวลเท่ากับการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน