อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด19" ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการปรับการรายงานตัวเลขเป็นรายสัปดาห์แล้วก็ตาม โดยตัวเลข ยอดผู้ติดเชื้อโควิด รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 มกราคม 2565
พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 997 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 142 ราย/วัน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,114 ราย ป่วยสะสม 2,501,481 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์อยู่ที่ 58 ราย เฉลี่ยรายวัน 8 ราย/วัน ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 17 ราย เสียชีวิตสะสม 12,934 ราย
โควิด ระบาดญี่ปุ่นระลอกที่ 8
ด้าน "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ได้เปิดยอดติดเชื้อ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 324,196 คน ตายเพิ่ม 745 คน รวมแล้วติดไป 668,619,304 คน เสียชีวิตรวม 6,713,594 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และเม็กซิโก
จากการระบาดในญี่ปุ่นระลอกล่าสุดนั้น สะท้อนให้เห็นว่า โอไมครอน ไม่กระจอก เพราะทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากกว่าสองแสนคนต่อวัน แม้จะน้อยกว่าระลอก 7 อยู่บ้าง แต่กลับทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันมีสถิติสูงกว่าทุกระลอกที่เคยมีมา
เมื่อลองดูสถิติในกรุงโตเกียวเช้านี้ โรงพยาบาลรับผู้ป่วย "โควิด19" นอนรักษาตัวไปแล้วกว่า 55% วันที่ผ่านมาติดเชื้อในโตเกียวไปมากกว่า 15,000 คน โดยเป็นคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพียง 1,800 กว่าคนเท่านั้น และเสียชีวิตไป 28 คน ในขณะที่อัตราการได้รับวัคซีนของประชากรในกรุงโตเกียวนั้น มีคนรับเข็มสามไปราว 66% และได้รับ 1-2 โดสไปราว 78%
จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า ต้องไม่ประมาท "โควิด19" แม้จะมีอัตราฉีดวัคซีนมากแล้วก็ตาม จะสังเกตว่าข้อมูลจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นว่า อัตราการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นดูจะมากกว่าไทย การระบาดหนักที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นน่าจะเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ความหนาแน่นประชากร รวมถึงการเปิดรับการท่องเที่ยวโดยมีคนเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดี จะพบว่า จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess mortality) ของไทยนั้นสูงกว่าญี่ปุ่นมาก อาจสะท้อนให้เราต้องตระหนักถึงสถานการณ์จริงในประเทศว่า จำนวนการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตทั้งที่มาจาก โควิด โดยตรงและที่ติดเชื้อโควิดร่วมกับการมีโรคประจำตัวนั้นอาจสูงกว่าที่เห็นในรายงานประจำสัปดาห์
ความเสี่ยงเรื่อง ไขมันในเลือดสูง หลังติด "โควิด19"
ล่าสุด Xu E และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ เปรียบเทียบระหว่างคนที่เคยติดเชื้อ "โควิด19" (ราว 52,000 คน) กับกลุ่มประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 (2.6 ล้านคน) และกลุ่มประชากรในอดีตก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 (2.5 ล้านคน) โดยรวมแล้วอายุเฉลี่ยราว 55-60 ปี และส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (>80%)
ติดตามไปกว่า 1 ปี สาระสำคัญพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรค "โควิด19" นั้น จะมีความเสี่ยงที่จะ ตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อราว 25% ความเสี่ยงยิ่งมาก หากป่วยรุนแรง แต่ถึงติดเชื้อแล้วมีอาการน้อย ก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่าไม่ติดเชื้อ โดยเฉลี่ยแล้ว หากติดตามไป 1 ปี จะมีคนเป็นไขมันสูงมากขึ้นกว่าการไม่ติดเชื้อราว 40 ใน 1,000 คน หรือ 4 คนจาก 100 คน นี่คือข้อมูลล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ เมื่อ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
และเป็นหนึ่งในปัญหาผิดปกติเรื้อรัง หรือ Long COVID ที่ควรเฝ้าระวังคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แม้หายดีแล้ว ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง กินให้ดี พักผ่อน ออกกำลังกายให้เพียงพอ สังเกตอาการผิดปกติ และไปตรวจสุขภาพเป็นระยะที่สำคัญคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดซ้ำ เพราะติดเพิ่มแต่ละครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วยเสมอ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง