ข่าว

บันทึกการเมืองไทยตั้งแต่2485 มีการ'ยุบสภา'มาแล้ว 14 ครั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย'การเมือง'ไทย ประวัติศาสตร์บันทึกไว้มีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2485 คาดการกันว่าจะมีครั้งที่ 15 อีกไม่นานนี้

 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นการทั่วไปต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวบังคับใช้


ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยได้ เคยมีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

 

ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากรัฐบาลแพ้โหวตข้อเสนอให้จัดทำรายละเอียดของงบประมาณประจำปีในเวลาเสนองบต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จึงยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ใหม่

 

ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2ครั้ง เพราะจัดให้มีการเลือกตั้งไม่ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สมาชิกสภาไม่เห็นด้วยกับ ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ของรัฐบาล

 

 

 

ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้เคลื่อนไหวขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่

 

ครั้งที่ 4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรงอันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและส่งผลกระทบ กระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

 

ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

 

ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากสมาชิกสภาไม่รับหลักการ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  พ.ศ. 2529

 

ครั้งที่ 7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาล เห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล

 

ครั้งที่ 8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 3535 การยุบสภาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง เดือนพฤษภาคม หลังจาก พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในขณนั้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารขุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน

 

ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากผลการปฏิบัติงานเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือส.ป.ก.4-01และและพรรคพลังธรรมลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

 

ครั้งที่ 10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นสัญชาติ ของนายกฯ

 

ครั้งที่ 11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543ภายหลังเข้ามาปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ หลายประการจนแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 40

 

ครั้งที่ 12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการขุมนุมสาธารณะ ตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

 

ครั้งที่ 13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลาย ปัญหาทางเศรษฐกิจและความชัดแย้งและความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว

 

ครั้งที่ 14  นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจาก หลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ  คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิโทษกรรม พ.ศ. 2556 รัฐบาลเปิดโอกาสให้ตัวแทนเข้าเจรจาแต่ไม่เป็นผลจึงตัดสินใจยุบสภา



logoline

ข่าวที่น่าสนใจ