ข่าว

"นักวิชาการ" ชี้ เอลนีโญ ทำไทย เจอ ร้อน-แล้ง กว่าปกติ ปลายปี 66

16 ธ.ค. 2565

"นักวิชาการ" มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ ลานีญา ส่งไม้ต่อ เอลนีโญ ทำประเทศไทย เจอ อากาศร้อน-แล้ง กว่าปกติ ช่วงปลายปี 2566

(16 ธ.ค. 65) รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊ค Witsanu Attavanich ติดตามความคืบหน้าเรื่องของการเกิดลานีญา และ เอลนิโญ ระบุว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอยู่ที่ 99% และคาดว่าจะลดกำลัง และเปลี่ยนเป็นเฟสกลางช่วง ก.พ.-เม.ย. เอลนีโญจะค่อย ๆ เพิ่มกำลัง และอาจกลับมาช่วงปลายปี 2566 

 

โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ตะวันตก จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ย ปกติช่วง ม.ค.-ก.พ. 2566 ส่วนฤดูแล้งในปี 2566 คาดการณ์ว่า น่าจะไม่แล้งมาก แต่ฝนจะน้อยกว่าฤดูแล้งปี 2565 และฤดูฝนปีหน้า น่าจะมาปกติ

 

 

รศ.ดร.วิษณุ ยกการพยากรณ์ล่าสุด (15 ธ.ค. 65) ของ International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญา อยู่ที่ 99% ช่วงเดือน พ.ย.65-ม.ค.66 และจะค่อย ๆ ลดลงจากนี้ไป กำลังของลานีญาจะค่อย ๆ ลดลงด้วย โดยจะเปลี่ยนเป็นเฟสกลาง ด้วยความน่าจะเป็น 71% ช่วง ก.พ.-เม.ย. 66

ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

จากนั้น ช่วง ก.ค.-ก.ย.66 ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญ จะเพิ่มเป็น 49% ดังนั้น เราอาจเจอเริ่มเจอภัยแล้ง และอากาศร้อนกว่าปกติช่วงไตรมาส 4 ของปี 66 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ จากกราฟ บ่งชี้ว่า ฤดูแล้งปี 2566 น่าจะไม่แล้งมาก แต่ฝนจะน้อยกว่าฤดูแล้งปี 2565 และฤดูฝนปีหน้าน่าจะมาปกติ ไม่เร็วมากเหมือนปี 2565 ช่วง ม.ค.-มี.ค. ภาคอีสานช่วงตอนกลางและล่าง จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และช่วง ก.พ.-เม.ย. ภาคเหนือ ,ภาคกลางบางส่วน และภาคตะวันตก จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ส่วนภาคใต้คาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ยาวไปถึง พ.ค. 66

 

ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

 

ในส่วนของ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วง ม.ค.-ก.พ. 2566 ด้วยอิทธิพลของลานีญา (พื้นที่สีฟ้าและน้ำเงินอ่อน) ขณะที่ภาคเหนือ ช่วง ม.ค.-เม.ย.2566 อากาศมีแนวโน้มร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีแดง) และช่วง ก.พ.-เม.ย.2566 อุณหภูมิมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ช่วง เม.ย.-มิ.ย. ภาคใต้ ภาคเหนือตอนบน และอีสาน (พื้นที่สีแดง) อากาศจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 

ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

รศ.ดร.วิษณุ เตือนว่า ให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความไม่ประมาท เกษตรกรต้องระวังผลผลิตเสียหายให้มากจากฝนและอากาศหนาวเย็น อากาศจะเริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อย ๆ และฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังจะรุนแรงขึ้น