ข่าว

เปิด 3 สาเหตุ "ติดโควิด" เสี่ยงเป็น เบาหวาน สูงขึ้น เป็น 1 ล้าน เจอ 2 หมื่นคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 3 สาเหตุ "ติดโควิด" เสี่ยงเป็น เบาหวาน สูงขึ้น เป็น 1 ล้าน เจอ 20,000 คน ดร.อนันต์ ชี้ มีหลายมิติ ต้องวิจัยเชิงลึก

"ติดโควิด" นอกจากเจอ ภาวะลองโควิด ด้วยอาการที่พบโดยทั่วไปแล้ว ผลวิจัยจากหลายที่ยังพบว่า หลังหายจากโควิด-19 ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ มีโอกาสป่วยด้วยโรคเบาหวาน ตามมา และสูงขึ้นมาก แต่สูงขึ้นด้วยสาเหตุใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องวิจัยกันอีก

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววิทยา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค-สวทช. ระบุว่า หลักฐานออกมาชัดว่า ความเสี่ยงของเบาหวานจะสูงขึ้นมากเมื่อติดโควิด แต่สูงขึ้นด้วยสาเหตุใดยังเป็นสมมติฐานที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป  บทความใน Nature Metabolism สรุปความเป็นไปได้ของสาเหตุที่โควิดอาจทำให้คนเป็นเบาหวานได้สูงขึ้นได้ 3 สาเหตุ โดยแต่ละกลไกอาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เสริมให้เกิดเป็นอาการเบาหวานหลังติดโควิดได้ ดังนี้

 

 

  1. ไวรัสติดเข้าสู่เบต้าเซลล์ในตับอ่อนโดยตรง ซึ่งเบต้าเซลล์มีหน้าที่ทำคัญในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อเบต้าเซลล์ถูกรบกวนจากการติดเชื้อไวรัส อาจส่งผลให้เซลล์ถูกทำลายโดยไวรัส หรือ ทำให้การสร้างอินซูลินออกมาได้น้อยลง
  2. ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์ไขมัน (Adipocytes) ที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อไขมัน ส่งผลให้เซลล์ดังกล่าวสร้างโปรตีนชื่อว่า Adipopectin น้อยลง ซึ่งโปรตีนมีบทบาทสำคัญมาก ต่อการควบคุมระดับกลูโคสและการสลายตัวของกรดไขมัน การลดลงของ Adipopectin จะส่งผลให้การตอบสนองต่ออินซูลินจะลดน้อยลง พูดง่าย ๆ คือ เอาน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้น้อยลง
  3. ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์อื่น ๆ โดยเฉพาะเซลล์ตับ ทำให้เซลล์มีการสร้างโปรตีนชื่อว่า GP73 ซึ่งโปรตีนตัวนี้มีผลต่อการกระตุ้นให้เซลล์ตับสร้างกลูโคสและปลดปล่อยออกมาสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น

ติดโควิดเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่ม

นอกจากนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology ได้เก็บข้อมูลผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 181,000 คน จากจำนวนประชากรกว่า 8.5 ล้านคน โดยพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยติดโควิด มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปีหลังหายจากโควิด ซึ่งความเสี่ยงนี้ไม่จำกัดเฉพาะในผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น และไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักตัวเกิน หรือ ความดันโลหิตสูง แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงก่อนป่วยเป็นโควิด ก็มีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวานเมื่อหายจากโควิดไม่น้อยกว่ากัน แสดงว่าถ้ามีผู้ป่วยโควิด 1 ล้านคน ย่อมมีผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นผู้ป่วยใหม่ได้ถึง 20,000 คน นับเป็นลองโควิดที่สามารถเกิดขึ้นได้

 

ความรุนแรงของเบาหวานเมื่อติดโควิด

 

ความรุนแรงของโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโควิด-19 ในผู้ที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน หากมีอาการหนักเมื่อเป็นโควิด-19 ย่อมมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานอยู่แล้ว เมื่อป่วยเป็นโควิด-19 ความรุนแรงจะมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวาน เพราะคุมเบาหวานยากขึ้น ความซับซ้อนของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเป็นโควิด-19 อาจต้องปรับยา หรือรับประทานยาบางตัวไม่ได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นได้

 

นอกจากนี้ ในเด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 พบภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวานเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด เด็กจะหายใจเร็วขึ้น เหนื่อย หอบ เพราะความรุนแรงของเบาหวานเพิ่มขึ้น ร่างกายผลิตอินซูลินไม่ได้จึงต้องให้อินซูลินและสารน้ำ ส่วนผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นเบาหวานอาจไม่พบภาวะเลือดเป็นกรด แต่หากคุมน้ำตาลได้ไม่ดีจะมีอาการหิวน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะบ่อยขึ้น อาการแย่ลงขณะป่วยเป็นโควิด

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อนันต์ ระบุว่า การควบคุมป้องกันอุบัติการณ์ของเบาหวานในผู้ป่วยโควิด ดูเหมือนจะมีหลายมิติต้องให้วิจัยกันในเชิงลึก

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ