ข่าว

"โควิด19" แนวทางการรักษาฉบับใหม่ ปรับการจ่ายยา ใช้ LAAB มากขึ้น มีผลวันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับใหม่ ปรับการจ่าย ยาต้านไวรัส เพิ่มการใช้ LAAB มากขึ้น มีผลบังคับใช้ 30 พฤศจิกายน 2565 ย้ำ วัคซีนโควิด 4 เข็ม ช่วยลดอาการหนัก

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการปรับแนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับที่ 26 ที่ใช้ในกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ว่า แนวทางการรักษาโควิด มีการปรับเพื่อให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ โดยจะมีการประกาศใช้ 30 พ.ย.นี้

 

 

ซึ่งรายละเอียด เป็นการปรับเรื่องการจ่าย ยาต้านไวรัส และเพิ่มการใช้ Long Acting AntibodyLAAB ) ให้มากขึ้น เน้นในการรักษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการให้ยาต้านไวรัสอื่น ที่ยังคงใช้อยู่เช่นเดิม

โดย แนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับล่าสุดที่มีการปรับเปลี่ยน คือ 

 

1. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรครุนแรง จากเดิมที่มีรายละเอียดมาก ก็ปรับเหลือเพียงให้การดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจแพทย์ หากต้องให้ยาต้านไวรัสก็อาจให้ ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ได้ปรับเกณฑ์ของปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เพื่อให้เข้าถึงยาต้านไวรัสสะดวกขึ้น ใน 3 กลุ่ม คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ในระยะ 2 ขึ้นไป, โรคหัวใจและหลอดเลือด Class 2 ขึ้นไป และโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ก็ปรับเป็นไม่มีระยะของโรคและเป็นโรคเบาหวานธรรมดา แพทย์สามารถให้ยาตามดุลยพินิจได้ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ ได้เพิ่มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาด้วย ซึ่งอาจให้ LAAB ตัวเดียวหรือให้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่นก็ได้ตามอาการหรือตามดุลยพินิจของแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์การติดเชื้อ "โควิด19" ในขณะนี้ พบว่าแม้กราฟจะเริ่มสูงขึ้นพบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แต่อัตราการครองเตียง โควิด จาก 7,564 เตียง มีการใช้แค่ 1,468 เตียง หรือคิดเป็น 19.4% แต่หากมองเป็นเตียงระดับ 2 และ3 ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็ใช้ไปแค่ 35% ซึ่งถือว่ายังไม่มาก คาดว่าแม้ในช่วงหยุดยาวในเดือนธันวาคม อัตราการใช้เตียงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 50%

 

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวย้ำว่า ทุกคนควรรับ วัคซีนโควิด ให้ครบ 4 เข็ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือติดแล้วโอกาสจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยลง การรับวัคซีนอย่างน้อยคนละ 4 เข็ม เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยอาจไม่ต้องนับว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว เพราะหากเกิน 3 เดือนภูมิคุ้นกัน ทั้งวัคซีน และการติดเชื้อ จะทำให้ภูมิที่เคยมีลดลง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ