ข่าว

ทารกแฝดลืมตาดูโลก หลังเป็น "ตัวอ่อนแช่แข็ง" นาน 3 ทศวรรษ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ่อแม่มะกัน ได้ลูกแฝดจาก "ตัวอ่อนแช่แข็ง" 30 ปี นานที่สุดเท่าที่เคยมีมา คุณพ่อเปรยลูกแฝดควรเป็นพี่คนโต แต่กลับกลายเป็นน้อง

 

ลิเดีย และ ทิโมธี ริดจ์เวย์ ทารกแฝดของ ราเชล และ ฟิลิป ริดจ์เวย์ สามีภรรยาในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน  ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 กลายเป็นทารกที่ถือกำเนิดจากเอ็มบริโอแช่แข็งยาวนานที่สุดที่ให้กำเนิดได้ คือ  30 ปี   นานกว่าสถิติเดิม คือ มอลลี กิบสัน ผู้ถือกำเนิดจากตัวอ่อนแช่แข็งเกือบ 27 ปี เมื่อสองปีที่แล้ว โดยมอลลี ทำลายสถิติของ เอมมา พี่สาวของเธอเอง ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนแช่แข็ง 24 ปี

 

ทารกแฝดคู่นี้ เดิมเป็นตัวอ่อนหลอดแก้ว  ที่สร้างให้กับคู่สมรสนิรนามคู่หนึ่ง สามีอยู่ในวัย 50 ปีเศษ ใช้ผู้บริจาคไข่วัย 34 ปี และแช่แข็งเก็บตัวอ่อนไว้ตั้งแต่ 22 เมษายน 2535  ทั้งนี้  สามีภรรยาบางคู่อาจสร้างตัวอ่อนเกินไว้ และสามารถแช่แข็งเพื่อใช้ในอนาคต หรือมอบให้เพื่อการวิจัยพัฒนาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ หรือให้กับคนที่ไม่สามารถมีลูกได้  และสามีภรรยานิรนามคู่นี้ ฝากตัวอ่อนไว้ที่ห้องแลบจนถึงปี 2560  ก่อนตัดสินใจบริจาคให้กับ ศูนย์บริจาคเอ็มบริโอแห่งชาติ เมืองน็อกซ์วิลล์ รัฐเทนเนสซี หวังว่าสามีภรรยาคู่อื่นอาจนำไปใช้  

 

ราว 3 ทศวรรษที่อยู่ในหลอดเล็ก ๆ เก็บในไนโตรเจนเหลว  ที่อุณหภูมิลบ 200 องศาเซลเซียส  กระทั่งเมื่อกว่า 1 ปีก่อน สามีภรรยาริดจ์เวย์ ติดต่อไปที่ศูนย์ฯขอรับบริจาคตัวอ่อน 

 

 

 

 

ฟิลิป กล่าวว่าไม่เคยวางแผน จะมีลูกกี่คน แต่เขากับภรรยาคิดเสมอว่าอยากมีหลายคนเท่าที่จะไหว และเมื่อได้ยินเรื่องตัวอ่อนบริจาค จึงตัดสินใจไปที่นั่น ทั้งสองต้องผ่านมาตรฐานที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐกำหนด รวมถึงเข้ารับการตรวจโรคติดเชื้อ ในส่วนการยื่นใบสมัครรับบริจาคตัวอ่อน สามีภรรยาบอกบุคลิคลักษณะที่ต้องการ รวมถึงเชื้อชาติ อายุ ความสูง น้ำหนัก ประวัติพันธุกรรม การศึกษา อาชีพและงานอดิเรก ทั้งยังขอดูรูปถ่ายของผู้บริจาคและลูก ๆ ของพวกเขาหากมี  

 

หลังจากพิจารณาแล้ว ปรากฎว่าตรงกับเอ็มบริโอที่แช่แข็งปี 2535  เมื่อนำมาละลายเมื่อวันที่ 28 ก.พ. พบว่ารอด 3 ไม่รอด 2  ทั้งนี้ สมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์อเมริกัน ระบุว่า อัตราการอยู่รอดเมื่อละลายเอ็มบริโอแช่แข็ง อยู่ที่ประมาณ 80 %


  
3 ตัวอ่อนที่เหลือ ถูกฝังในมดลูกของเรเชล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ราว 29 ปีกับอีก 10 วันนับจากถูกแช่แข็ง แต่ประสบความสำเร็จ  2 คน   ลิเดียถือกำเนิดด้วยน้ำหนัก 2.31 ก.ก. ทิโมธี หนัก 3.01 ก.ก. เรเชล กล่าวว่า ทั้งสองเกิดมาสมบูรณ์ เป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้เราทั้งสองรู้สึกเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่วันที่ทั้งสองลืมตาดูโลก 

 

ฟิลิป กล่าวว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่ออยู่เหมือนกัน เขาอายุเพียง 5 ขวบ  ตอนที่พระเจ้ามอบชีวิตของ ลิเดีย กับ ทิโมที  ด้านหนึ่ง ทั้งสองคือลูกคนโตสุด แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นน้องคนเล็กสุด 
 

สามีภรรยาริดเวยส์ มีลูกแล้ว 4 คน อายุ  8  6 3 และเกือบ 2 ขวบ ไม่มีคนไหนเกิดจากผู้บริจาคหรือการทำเด็กหลอดแก้ว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ