ข่าว

เคาะแล้ว แผน "วัคซีนโควิด 2566" วัคซีนเข็มกระตุ้น ใครได้ฉีดบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางจัดหา "วัคซีนโควิด 2566" วัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ

(21 พ.ย.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2565 โดยระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 2566 โดยมีกรอบในการจัดหา และบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ อสม. รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน 


โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด ในปี 2566 อย่างเหมาะสม รวมถึงยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการ การให้วัคซีนป้องกันโควิด และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 

 

ภายหลังการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนภารกิจวัคซีนโควิด 2566 ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษา และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้า การจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับแล้ว 

 

ส่วนผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดส แบ่งเป็นดังนี้

 

  • รับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82.4
  • รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 77.5
  • รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 32.4 ล้านโดส 
  • ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 รวม 17,745 คน

 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนโควิด หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น

 

สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ให้มีความพร้อมทุกจังหวัดแล้ว 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดมาลาเรีย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (7) กับมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

 

รวมถึงรับทราบมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมค็อกคัส (2p+1) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเสนอชุดบริการวัคซีนเพื่อประกอบการพิจารณาเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในปี 2567 โดยปรับเป็นวัคซีน IPV และ PVC เมื่ออายุ 2 เดือน และ 4 เดือน และการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) กรณีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

 

โดยให้วัคซีน 1 เข็มไปก่อน ในกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2562-2564 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากกรณีวัคซีนขาดชั่วคราว และเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2565-2566 โดยให้ในเด็กหญิงที่มีอายุสูงสุดก่อนเป็นลำดับแรก ตามจำนวนวัคซีนที่จัดหาได้ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ