ข่าว

จับตา "โควิด19" B.1.641 แพร่จาก กวาง สู่ คน ขณะ ยอด ผู้ติดเชื้อ ไทยสูงต่อเนื่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยอด ผู้ติดเชื้อ "โควิด19" รายสัปดาห์ ยังสูงต่อเนื่อง ขณะ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูล B.1.641 แพร่ระบาดใน กวาง ก่อนจะมาแพร่สู่ คน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด19" ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นจำนวนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่ามีจำนวน 3,957 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 565 ราย/วัน ยอด ผู้ติดเชื้อ เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้จำนวน 791 ราย

 

 

ขณะที่ผู้เสียชีวิตนั้น มีจำนวน 69 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 9 ราย/วัน เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 27 ราย โดยยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,478,895 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) และผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 11,408 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) เมื่อดูจากตัวเลข จะสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และ ช่วงเปิดเทอม จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น

 

ยอดติดเชื้อโควิด19

 

โควิด คลื่นลูกใหม่

 

โดยทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูล โควิด คลื่นลูกใหม่กลายพันธุ์ที่กำลังก่อตัวจะระบาดไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่จากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยสมาชิกในกลุ่ม ซุปโอไมครอน  ซึ่งมีการกลายพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น BQ.1, BR.2.75, XBB ฯลฯ

 

ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาทั่วโลกสังเกตพบการระบาดของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละทวีปโดยการกลายพันธุ์ส่วนหนามบางตำแหน่งกลับมาเหมือนกัน เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในมนุษย์จากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นซึ่งเรียกการวิวฒนาการแบบนี้ว่าการวิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน (convergent evolution)

 

การวิวัฒนาการของสายพันธุ์ย่อย โอไมครอน

 

การวิวัฒนาการในลักษณะกลับมาบรรจบกันที่ชัดเจน คือ การวิวัฒนาการของโครงสร้าง "ปีก" ของสัตว์ที่มีบรรพบุรุษต่างกันมา แต่มีคุณสมบัติเดียวกันคือช่วยให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเคลื่อนที่บนอากาศได้ เช่น ปีกของ นก ค้างคาว ไดโนเสาร์ และ ผีเสื้อ โดยการวิวัฒนาการในลักษณะนี้ (convergent evolution) พบในส่วน "หนาม" ของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ เช่น BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ XBB เพื่อช่วยหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และช่วยให้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ทำให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อ สายพันธุ์ BA.5 ดั้งเดิมได้ดีขึ้น จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการระบาดของ ( โอไมครอน ) คลื่นลูกใหม่ไปทั่วโลก

 

วิวัฒนาการที่กลับมาบรรจบกัน

 

B.1.641 ระบาดใน กวาง และแพร่กลับมาสู่คน

 

นอกจากนี้ทีมวิจัยแคนาดายังพบเชื้อ "โควิด19" สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.641 ซึ่งหลบไประบาดใน กวาง ระยะหนึ่งและแพร่กลับมาสู่คน โดยหน่วยงานสาธารณสุขของแคนาดา (PHAC) ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าว มีการตีพิมพ์รายละเอียดในวารสารการแพทย์ Nature เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565

 

ไวรัสโคโรนา B.1.641 ตรวจพบเมื่อปลายปี 2564 ใน กวางหางขาว 5 ตัวจากการสุ่มสวอปจมูก กวางหางขาว ไปทั้งสิ้น 300 ตัว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทรีโอในแคนาดาและในช่วงเวลาเดียวกันมีการตรวจพบไวรัสโคโรนาที่มีรหัสพันธุ์คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ B.1.641 ประมาณ 80-90% ในผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง คาดว่าติดมาจากการสัมผัส กวาง อันเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาจากกวางกลับมาสู่คน

 

จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมพบว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิม "อู่ฮั่น" ถึง 76 ตำแหน่ง และมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ เบต้า ไอโอตา และเอปซิลอน ชี้ให้เห็นว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 สามารถแพร่จากคนมาสู่กวางและแพร่หมุนเวียนและมีวิวัฒนาการในประชากร กวาง เป็นเวลาหลายเดือน โดยมี กวาง ทำหน้าที่เป็นรังคโรค (Reservoir) ก่อนที่จะแพร่กลับมาติดผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว 

 

หมายเหตุ ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ อัลฟา เบตา และเดลตามีการกลายพันธุ์ไปประมาณ 24 - 40 ตำแหน่ง ในขณะที่ โอไมครอน BA.5 กลายพันธุ์ไปประมาณ 105 ตำแหน่ง ต่างจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" 

 

ยังไม่พบการแพร่ B.1.641 จากคนสู่คน

 

ข่าวดีคือผลการทดลองในห้องปฏิบัติการพบแอนติบอดีจากผู้ที่หายจาก COVID-19 หรือจากผู้ที่รับวัคซีน สอง หรือ สามโดส สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ "โควิด19" B.1.641 (ที่แยกได้จากกวาง) ในหลอดทดลองได้ดี ทำให้เรายังไม่พบการระบาดในคนถัดจากผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว

 

ดังนั้น ไวรัสโคโรนา 2019 ไม่เพียงแต่แพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนเท่านั้น ยังสามารถหลบเข้าไปเพิ่มจำนวนในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เลี้ยงลูกด้วยนมในลักษณะของโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) ก่อนกระโจนกลับมาติดมนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้การควบคุมหรือกำจัด ไวรัสโคโรนา 2019 ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะการควบคุมการระบาดไวรัสในสัตว์ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเมื่อเทียบกับการควบคุมการระบาดในคน

 

B.1.641 ในกวาง

 

 

ที่มา : Center for Medical Genomics

 

 

logoline