ข่าว

ไทยขอ FIFA ลดค่า "ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก2022" รอคำตอบบ่าย3วันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เผย กกท. กำลังต่อรองกับ FIFA ขอลดค่า "ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก2022" จาก 1.6 พันล้านบาท เหลือไม่เกิน 1.2พันล้าน ด้าน "ก้องศักดิ์ ยอดมณี" เผยบ่ายสามโมงวันนี้ จะได้รับคำตอบ

วันที่ 14 พ.ย. 65 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พยายามต่อรอง ขอลดราคาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้อยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แต่ยังต้องรอข้อสรุปว่าจะได้ลดราคา ตามวงเงินนี้หรือไม่


โดยที่มาของวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 600 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา และส่วนที่ 2 เงินสนับสนุนจากภาคเอกชน อีก 600 ล้านบาท

“เพื่อนำเงินไปซื้อค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ครบทั้ง 64 แมตช์ ให้ทันก่อนการแข่งขันจะเปิดฉากในวันที่ 20 พ.ย.นี้  จะขอให้ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ภายในวันจันทร์ที่ 14 หรือวันอังคารที่ 15 พ.ย.นี้


เพื่อพิจารณาขออนุมัตินำเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ มาสำรองจ่ายในส่วนของภาคเอกชนสนับสนุน 600 ล้านบาทก่อน เพื่อนำไปสมทบกับเงินสนับสนุนจาก กทปส. 600 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท เมื่อได้เงินสนับสนุนจากภาคเอกชนแล้ว ค่อยนำไปคืนกองทุนพัฒนาการกีฬาฯในภายหลัง”

และหลังจากที่ประชุมบอร์ดกองทุนพัฒนาการกีฬาฯมีมติเห็นชอบ ก็สามารถดำเนินการเจรจาเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ได้ทันที โดยไม่ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)


“ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการหารือกับภาคเอกชนเรื่องเงินสนับสนุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฯ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีรายใดบ้าง แต่ใกล้เคียงมากแล้วในตอนนี้”นายพิพัฒน์ กล่าว

 

ด้าน นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจากับตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จนถึงวันนี้ (14 พ.ย.) ว่ายังคงรอคำตอบ หลังจากขอให้ฟีฟ่าพิจารณาทบทวนลดราคาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ลงในราคาที่เหมาะสม

 

ในขณะเดียวกัน กกท. ก็พยายามหาสปอนเซอร์ให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุดมีภาคเอกชนหลายรายที่ได้ยืนยันให้การสนับสนุนมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ ได้

 

ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนก่อน คงจะไม่ตกลง หากเป็นราคา 1,600 ล้านบาท เพราะเป็นราคาที่มากเกินควรในสายตาของพี่น้องประชาชน ในสายตาของการกีฬา(แห่งประเทศไทย)ด้วย ที่เมื่อเทียบกับลิขสิทธิ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ซื้อไป

 

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หากฟีฟ่าไม่ยอมพิจารณาตามการต่อรองของทางการไทยจะเกิดอะไรขึ้น นายก้องศักด ตอบว่า ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า ภาครัฐได้พยายามถึงที่สุดแล้ว แต่ถ้ายื่นราคาที่สูงเกินไปเราก็รับไม่ได้ คงต้องยอมรับว่า ครั้งนี้คงไม่มีการถ่ายทอดสด ถ้าการผ่อนผันของฟีฟ่าไม่เกิดขึ้น แต่ก็หวังว่าจะมีทางออกที่ดีร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ กกท.จะได้เงินสนับสนุนจาก กสทช.จำนวน 600 ล้านบาท แต่ กกท.ยังต้องหาเงินเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท จากผู้สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า

 

ขณะเดียวกัน กกท.เดินหน้าหาผู้สนับสนุนเพิ่มเติม โดยขณนี้มีภาคเอกชนหลายรายยืนยันให้การสนับสนุน และยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า 3 องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะให้เงินสนับสนุนรวมกันเป็นจำนวนเงินราว 400-500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้

 

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนจาก กสทช. และขั้นตอนสำคัญอีกขั้นคือการผ่านร่างสัญญา เบื้องต้น กกท.ได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเบื้องต้นแล้ว และถัดไปต้องประสานงานต่อเนื่องเรื่องเงิน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

 

นอกจากนี้ ข้อสรุปเรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับคำตอบของฟีฟ่าว่าจะตกลงราคาที่เหมาะสมอย่างไร โดยจะได้คำตอบชัดเจนจากตัวแทนของฟีฟ่าภายในวันนี้ เวลา 15.00 น. หลังจากที่ก่อนหน้านี้

 

กกท.พยายามเต็มที่ในการตกลงกับฟีฟ่าให้ได้ข้อยุติให้เร็วที่สุด และได้ส่งเงื่อนไขต่างๆ ไปที่ฟีฟ่าครบทุกเงื่อนไขแล้ว เช่น เรื่องขอให้ฟีฟ่าพิจารณาราคาเหมาะสม เงื่อนไขต่างๆ ที่จะแบ่งแยกเป็นแพ็กเกจเล็กลง เป็นต้น ซึ่งหากได้คำตอบแล้ว กกท.จะเร่งดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

logoline