ข่าว

"โควิด-19" ทำ หมอ และบุคลากรทางการแพทย์ พบ "ภาวะหมดไฟ" พุ่ง 6 เท่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมสุขภาพจิต เปิดข้อมูล โควิด-19 ทำ บุคลากรทางการแพทย์ เจอ "ภาวะหมดไฟ" พุ่ง 6 เท่า ในปี 2565 ฐานข้อมูล พบ หมอ คือกลุ่มเสี่ยงสูงสุด

(9 พ.ย.2565) ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ หมอ ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ดังปรากฎผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Healtn Check In เพิ่มสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 

 

 

 

 

โดยสาเหตุหลัก มาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของจิตใจในการดูแลตนเองให้สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม ในทุกสถานการณ์อย่างภาวะปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารและศักยภาพการทำงานที่อาจจะลดลง

 

 

นายแพทย์ศุภเสก วิโรจนาภา หัวหน้าสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) สอดคล้องจากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่า อาชีพ ที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด คือ แพทย์

ทั้งนี้ ยังพบว่า ในบางพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ เช่น ในสามเดือนแรก (เดือน มกราคม - มีนาคม) มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน เป็น ร้อยละ 14.4 และล่าสุด ช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน ยังสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.4 และจากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตทั้งสิ้น จำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง

 

 

ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขควรตระหนัก และให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน คัดกรองสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอด้วย (MHCI) จัดให้มีเวลา และสถานที่ผ่อนคลายให้กับตนเอง และมีเวลาให้ครอบครัว พร้อมปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดน่าอยู่ น่าทำงาน เปิดโอกาสให้มีการแสดงออก และทำสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการทำงานปกติ ให้อิสระ และเคารพการตัดสินใจในการรับงานที่ไม่ขัดต่อมาตรฐานในการรักษา รวมทั้งสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น ซึ่งหากพบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ควรให้ได้รับการดูแลรักษา

         

 

ทั้งนี้ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเป็นโรคที่เป็นผลจากการความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน และรู้เท่าทันโรคนี้จะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธีก่อนสายเกินไป

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ