ข่าว

รัฐบาล เตรียม ยกเลิกกฎหมาย "เช็คเด้ง" รับผิดเป็นคดี "ทางแพ่ง"แทน "อาญา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาล เตรียมนำเข้าที่ประชุมสภา เป็นวาระเร่งด่วน หลังรับทราบ ให้เสนอร่างยกเลิกกฎหมาย "เช็คเด้ง" รับผิดเป็นคดี "ทางแพ่ง"แทน "อาญา"

ความคืบหน้าการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 พ.ศ. ... หรือ เช็คเด้ง ที่ก่อนหน้านี้ประกาศให้ผู้ที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษในคดีอาญานั้น 


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร วันจันทร์ ที่ 31 ต.ค. 65 ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมาดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทำให้เมื่อมีกรณี ลูกหนี้ สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เพราะเงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า เช็คเด้ง จะเหลือเพียงมูลความผิดที่ฟ้องร้องกันทางแพ่ง ไม่มีโทษทางอาญาที่ต้องถูกปรับหรือจำคุกอีกต่อไป

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534  หากเกิดกรณี "เช็คเด้ง" ไม่ว่าจะมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ลูกหนี้ต้องมีโทษทางอาญาถูกปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เสมือนลูกหนี้ต้องเอาเสรีภาพของตนเองเป็นประกันว่าเช็คจะไม่เด้ง ทั้งที่ความเป็นจริงการที่เงินในบัญชีไม่พอจ่ายเจ้าหนี้ควรฟ้องร้องทางแพ่ง เรียกเงินตามเช็คเท่านั้น แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ ทำให้ทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือกฟ้องเป็นคดีอาญาเพื่อข่มขู่ลูกหนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินเปลี่ยนไปมาก มีการใช้ทั้งบัตรเครดิต เดบิต การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทนที่การใช้เช็ค หากยังคงกฎหมายนี้ไว้อาจจะเป็นการใช้โทษอาญาในทางที่ไม่เหมาะสม รัฐบาลจึงเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ให้การจัดการหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดว่า บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้

 

ทั้งนี้เมื่อกฎหมายยกเลิกแล้ว และมีผลบังคับ ผู้ที่ต้องโทษอยู่จะได้รับการปล่อยตัวทันที หรือหากศาลพิจารณาคดีอยู่ก็จะจำหน่ายคดีส่วนอาญาออกไป และต่อไปนี้เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องทางอาญาเพื่อบีบคั้นลูกหนี้ไม่ได้อีกต่อไป
 

"แม้จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ก็ยังมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษลูกหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คเด้งโดยมีเจตนาทุจริต อยู่ในส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

 

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่

Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek\

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ