ข่าว

5เดือน ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า" ยังไม่ 25 บาทตลอดสาย

26 ต.ค. 2565

ทวงสัญญา "ชัชชาติ สิทธิพันธ์" ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสาย ผ่านมา5 เดือน ยังทำไม่ได้ ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วน

การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือเป็น 1 ใน 4 นโยบายเร่งด่วนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศในวันรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และวันที่2 มิถุนายน 2565 ที่เขาเริ่มทำงาน มีการประชุมหารือร่วมกับจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.  เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที และทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหารือสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวและปัญหาหนี้ที่ กทม. ต้องแบกรับโดยมีเรื่องที่ที่น่าสนใจคือการปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ประชาชนสามารถเดินทางในราคา 25 บาทตลอดสาย สามารถทำได้หรือไม่ 

ทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ เบื้องต้น ชัชชาติ ระบุว่า อาจจะพิจารณาออกข้อบัญญัติเพื่อกู้เงินใช้หนี้กว่า 121,333 ล้านบาท หรืออาจจะใช้แนวทางอื่นมาร่วมดำเนินการ แต่การศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินต้องหารือกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งสภากรุงเทพมหานค หากแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ เป้าหมาย คือ การหาทางออกให้ค่าโดยสารถูกลง เพราะประชาชนบ่นเรื่องนี้มามาก ซึ่งทั้งหมดมีความเป็นไปได้ในการเจรจาให้ราคาค่าโดยสารลดลงมาได้ถึง 25 บาท โดยสภาองค์กรผู้บริโภคให้ข้อมูลค่าจ้างเดินรถ และต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ประมาณ 15 – 16 บาท  

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ อ้างอิงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท รวมถึงส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ และ ห้าแยกลาดพร้าว – คูคต ทั้งที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พิจารณาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ในราคา 44 บาทก่อนหมดสัมปทานปี 2572  และราคา 25 บาท ตลอดสายหลังจากหมดอายุสัมปทาน 

 

30 สิงหาคมที่ผ่านมา สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยานระบุไว้ในเฟสบุ๊คว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักซึ่ง กทม. ได้ให้สัมปทานแก่ BTS นั้น ในกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนค่าโดยสารก็ต้องคงอัตรา 16-44 บาท ต่อไป แต่ในกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการทำให้ค่าโดยสารถูกลง ก็สามารถทำได้ แต่ จะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงให้ BTS เพราะมีสัญญาสัมปทานผูกมัด ก่อนหมดสัมปทานในปี2572

 

ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค สามารถ ราชพลสิทธฺ์

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับผู้รับสัมปทาน รายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. แต่ต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินของ กทม. และภาระหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับ BTS และ รฟม.

หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572ผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นจะต้องขยายเวลาสัมปทานให้ BTS แต่จะต้องจ้างให้ BTS เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 ตามสัญญาจ้างที่ กทม. ทำกับ BTS ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ในกรณีนี้ กทม. จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายเท่าไหร่ก็ได้ รายได้ทุกบาททุกสตางค์จะเป็นของ กทม. ทั้งหมด แต่ กทม. จะต้องแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าฯ กทม. จะต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินของ กทม. และภาระหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับ BTS และ รฟม. ด้วย

ผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว ขอให้หั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงมาให้ได้ตามแนวทางที่เคยประกาศไว้ โดยการลดหนี้ และเพิ่มรายได้ เช่น ไม่รับโอนหนี้จาก รฟม. โอนสัมปทานให้กระทรวงคมนาคม และให้เช่าพื้นที่ทำการค้าขาย และ/หรือโฆษณา เพื่อหารายได้ เป็นต้น

 

สำหรับหนี้ ที่กทม.ต้องแบกรับกว่า 121,333 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้ 

- ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท  และส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 63,000 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยที่ไม่จ่ายไปจนถึงปี 2572 ประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยเจ้าหนี้ คือ กระทรวงการคลัง  สำหรับหนี้ก้อนนี้มีมติคณะรัฐมนตรี ปี 2561 ให้ กทม. รับโอนการบริหารจัดการ และภาระหนี้จาก รฟม. แต่กระบวนการรับโอนยังไม่เสร็จสิ้น

- ค่าซื้องานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 23,884 ล้านบาท เจ้าหนี้ คือ บีทีเอส ซึ่งมีกำหนดชำระภายในเดือน มีนาคม 2564 ซึ่งหากรวมดอกเบี้ยคาดว่าในปี 2572 จะมียอดหนี้รวม 30,000 ล้านบาท

- ค่าจ้างบีทีเอสในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท (เริ่มติดค้างมาตั้งแต่เมษายน 2560)

 

ทีมข่าวการเมือง คมชัดลึก

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

 

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w