ข่าว

7 กับดักทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ ทำ "เศรษฐกิจ" ไทย ยังไม่ฟื้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ชี้สาเหตุ เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น มาจากหลยปัจจัย และความเหลื่อมล้ำ ค่อนข้างสูง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “กับดักเศรษฐกิจไทย:ทางแก้และทางรอด” ซึ่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดสัมมนา “พลิกกลยุทธ์ กอบกู้เศรษฐกิจไทย” โดยมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว พร้อมด้วย รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว.โดยมีคณาจารย์ และนักศึกษาเข้าร่วมฟังจำนวนมาก
อดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งช่วงหลังเกิดโควิด-19 หลายคนต่างมองว่าน่าจะเห็นแสงอุโมงค์ แต่ขณะนี้กลับเกิดเหตุแทรกซ้อนจากปัญหามากมาย ทั้งการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ สงคราม การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการค่าครองชีพ เงินเฟ้อ กลายเป็นปัญหาใหญ่

อภิสิทธิ์ระบุว่า เมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี ได้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีอัตราการขยายตัวที่ +2.5 % หลายคนอาจดีใจ แต่เมื่อเทียบการขยายตัวในประเทศอาเซียน เวียดนาม ฟิลิปปินส์+7  มาเลเซีย+8 อินโดนีเซีย+5  ไทยถือว่าฟื้นตัวช้าที่สุด และปัญหาไม่ได้อยู่ในระดับก่อนโควิด แต่แย่กว่า สถาบันที่จัดอันดับขีดความสามารถของประเทศ พบว่า ไทยอยู่ที่ลำดับ 33 และดูขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ไทยอยู่ลำดับที่ 34 จากเดิมอยู่ลำดับที่ 10 ถ้าเราไม่คิดถึงโครงสร้าง การปรับเศรษฐกิจระยะยาว เราจะคาดหวังให้กลับไปเติบโตเหมือนประเทศอื่น เราคงทำไม่ได้

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับกับดักเศรษฐกิจของไทยนั้นจะเกิดได้จาก 7 เรื่องหลักๆ คือ 1. กับดักประเทศรายได้ปานกลาง และหลายปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ส่งสัญญาณที่ถูกต้องปรับตัวเป็น 4.0 แต่ ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง หรือการส่งเสริม การดำเนินการอะไรที่เป็น 4.0 ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องเทคโนโลยี และการพัฒนาคน 2.ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิด ถ้าดูมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ รายได้การส่งออกนำเข้าสูงกว่ารายได้ในประเทศ เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวย แต่ตอนนี้ไทยไม่รู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหน ไทยไม่ได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ไม่ได้ทำข้อตกลงการค้าใหม่ๆ เรื่องเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก

3.การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ไทยมีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก แต่ขาดความรู้และความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ พบว่าคนไทยซื้อของใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Google Facebook youtube แต่ไทยเก็บภาษีได้น้อยมาก 4.ภาวะโลกร้อน จากการสำรวจพบว่าไทยยังไม่ได้ผ่านตามเกณฑ์อย่างชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล ป่าไม้ ขณะเดียวกันบริษัทรับงานสาธารณโภคที่อังกฤษได้ประเมินการปล่อยก๊าชคาร์บอนเปรียบเทียบว่าในโลกจากปี 1959 จนถึงปี 2032 ซึ่งไทยอยู่ อันดับ 2 ของโลกที่มีการปล่อยก๊าซและทำลายมากสุด   

5.สังคมสูงวัย ขณะนี้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังจะเพิ่มเป็น 30 % ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  คนที่อยู่ในวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก และไทยเป็นสังคมสูงวัยก่อนสังคมที่มีฐานะ แก่ก่อนรวย

6. ภาวะหนี้สิน ไทยมีหนี้ครัวเรือนขึ้นมา 90% เป็นลำดับที่ 11 ของโลก และลำดับที่ 3 ในเอเชีย  และ7.ความเหลื่อมล้ำ ไทยถูกซ้ำเติมจากโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยี สังคมสูงวัย โลกร้อน ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจเพิ่มอำนาจการต่อรอง แรงงาน รัฐแข่งขันลดภาษี  ความผันผวน

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

อดีตนายกรัฐมนตรีะบุว่า ปัจจุบันคนไทยที่รวยที่สุดประมาณ 10% ถือเงินฝาก 93% ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ถือครองที่ดิน 61% และคนไทยอีก  90% ของผู้มีเงินฝาก จะมีเงินฝากรวมกัน 7%ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และถือครองที่ดิน 39% ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำไทยจะถ่ายทอดรุ่นไปสู่รุ่น  นั่นคือ หากรุ่นพ่อแม่จบมหาวิทยาลัยรุ่นลูกจะมีโอกาสเรียมหาวิทยาลัย 48% แต่ถ้ารุ่นพ่อแม่จบต่ำกว่าประถมศึกษา รุ่นลูกจะจบมหาวิทยาลัย 16% หรือ 1ใน3 เท่านั้น  ในทางกลับกัน ถ้ารุ่นพ่อแม่จบมหาวิทยาลัย รุ่นลูกต่ำกว่าประถมศึกษาเพียง 18% แต่ถ้ารุ่นพ่อแม่ต่ำกว่าประถมศึกษา รุ่นลูกต่ำกว่าประถมศึกษา 49% เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะโอกาสของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น อยากให้ทุกคนตระหนักว่ากำลังเผชิญสิ่งเหล่านี้ โจทย์เศรษฐกิจไทยจึงไม่ใช่เพียงการเติบโต หรือเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร เพื่อจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

 

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ