ข่าว

"ภาษีคริปโต" คืออะไร เสียอย่างไร ใครต้องเสียบ้าง เมื่อ ลงทุน คริปโต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ภาษีคริปโต" Cryptocurrency ลงทุน คริปโต แล้ว ต้อง เสียภาษี อย่างไร ใครต้องเสียบ้าง รวบรวมมาให้แล้ว สรุปครบจบที่นี่

หากพูดถึง "คริปโต" หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาระยะหนึ่งแล้ว หลังได้รับการยอมรับว่า เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง และเริ่มมีการใช้จ่ายแทนเงินสดได้บ้างแล้ว จนได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุน ถึงกับล่าสุด มีกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวรัสเซีย 6 คน ก่อเหตุอุกอาจปล้นเงินคริปโตฯ จากเพื่อนร่วมชาติ จำนวน 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท กลางร้านกาแฟชื่อดังบนเกาะสมุย แต่ก็เชื่อว่า ยังมีอีกหลายคน ยังไม่เข้าใจว่า คริปโต Crypto  คืออะไร สรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ แล้ว รวมทั้ง ภาษีคริปโต ที่ต้องทำความเข้าใจด้วย

"คริปโต" หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ สกุลเงินดิจิทัล ที่เกิดจากการรวมศัพท์ 2 คำเข้าไว้ด้วยกัน คือ Cryptography (การเข้ารหัส) และ Currency (สกุลเงิน) ดังนั้น ทางราชบัณฑิตยสภา จึงกำหนดศัพท์บัญญัติของคำนี้ไว้ว่า "สกุลเงินเข้ารหัส" โดยคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ได้รับการออกแบบมา เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ โดยใช้วิทยาการเข้ารหัส หรือรหัสลับ (Cryptography) ในการป้องกันและยืนยันธุรกรรม อีกทั้ง ยังใช้การเข้ารหัสเพื่อควบคุมการผลิตคริปโตบางประเภทอีกด้วย 

 

 

ความแตกต่างระหว่าง "คริปโต" กับ สกุลเงินปกติ

 

  • สกุลเงินปกติ หรือที่เรียกว่า เงินเฟียต (Fiat) เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแบบเหรียญและธนบัตร สามารถจับต้องได้ ใช้จ่ายเป็นเงินสด หรือจ่ายผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ แต่เงินเหล่านี้จะไม่มีมูลค่าในตัวของมันเองหากรัฐบาลไม่ได้รับรอง
  • สกุลเงินดิจิทัล ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเหมือนกับเงินเฟียต แต่บุคคลทั่วไปหรือภาคเอกชนเป็นผู้ออกเหรียญ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น และเป็นเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญ-ธนบัตรทั่วไป เพราะทำธุรกรรมกันผ่านระบบบล็อกเชน ทั้งนี้ เงินดิจิทัลจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมีคนให้ค่าของเงินสกุลนั้น

คริปโต

"คริปโต" ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคืออะไร

 

บิทคอยน์ คือ สกุลเงินดิจิทัล ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี สร้างโดย Satoshi Nakamoto โดยเป็นสกุลเงินคริปโตแรกที่เกิดขึ้นบนโลก ตั้งแต่วันแรกที่บิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นมานั้น หลายคนก็มองว่าบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับการสะสม และเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการติดต่อและดำเนินธุรกรรมระหว่างบุคคล เทคโนโลยีบิทคอยน์บนบล็อกเชนนั้น ทำให้ธุรกรรมระหว่างบุคคลเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนกลางมาดำเนินการ 

 

 

ตั้งแต่มีบิทคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีเยี่ยมที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาหุ้น และสินทรัพย์ต่าง ๆ และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้คนนิยมลงทุนกับบิทคอยน์ นอกเหนือจากบิทคอยน์แล้วยังมีสกุลเงินในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 8,000 สกุลเงิน โดยสกุลอื่น ๆ เหล่านี้เรียกรวมกันว่า Altcoins (อัลท์คอยน์) ซึ่งย่อมาจาก Alternative Coin นั่นเอง 

 

สามารถแลกเปลี่ยน "คริปโต" เป็นสกุลเงินปกติได้หรือไม่

 

สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ หรือ อัลท์คอยน์ แต่ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน จะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากประเทศที่ให้บริการก่อน ในขณะนี้ Zipmex ได้รับใบอนุญาตรับรองจาก ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หมายความว่า Zipmex สามารถให้บริการการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีได้ รวมไปถึงการเทรดบิทคอยน์เป็นเงินบาทสำหรับนักเทรดชาวไทยอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัท ร้านค้าหลายแห่งในประเทศไทย รับชำระเงินด้วย "คริปโต" เช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์, เดอะมอลล์, ร้านกาแฟอินทนิล, ปั๊มน้ำมันบางจาก แม้กระทั่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างอนันดา หรือ SC Asset แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่สนับสนุนให้นำคริปโตมาใช้จ่ายได้เสมือนเงินจริง เนื่องจาก

 

  • ราคาเหรียญมีความผันผวนสูง ทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ซื้อ หรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอน
  • เพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงิน และซื้อ-ขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะกระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน
  • เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เพราะยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการชำระเงิน
  • เพิ่มต้นทุนในการชำระเงิน จากการต้องแลกเปลี่ยนไป-มา หรือปรับระบบให้รองรับสินทรัพย์ประเภทนี้
  • ลดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะแบงก์ชาติไม่สามารถดูแลสภาวะการเงินและระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่เงินบาทให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้
  • การที่ประเทศใช้เงินหลายสกุลยังส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
  • ไม่มีแหล่งสภาพคล่องในกรณีวิกฤต เนื่องจากแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปเงินที่ไม่ใช่เงินบาทได้

          

หลังกรมสรรพากรประกาศว่า จะเรียกเก็บ "ภาษีคริปโต" ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป แล้ว ภาษีคริปโต Cryptocurrency เสียยังไง เสียแบบไหน รายได้แบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี คมชัดลึกออนไลน์ สรุปมาให้แล้ว

 

โดยพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งระบุรายละเอียดในเนื้อหาว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไร หรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตฯ จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ได้หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ

 

โดยที่ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เงินได้จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน

 

แบบไหนต้องเสีย "ภาษีคริปโต" เริ่มต้นด้วยหลักการของกฎหมาย 3 ข้อ คือ

 

  1. ส่วนแบ่งกำไรที่ได้ต้องเสียภาษี
  2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากการโอนต้องเสียภาษี
  3. ให้ผู้จ่ายเงินได้หัก 15% เมื่อมีการจ่ายเงินได้ และหักแล้วไม่สามารถใช้สิทธิ Final TAX
     

 

กรณีเป็นเงินได้จากต่างประเทศจะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย

 

  1. อยู่ในไทยในปีนั้นไม่ถึง 180 วัน
  2. ไม่ได้นำเงินได้เข้ามาในปีที่เกิดเงินได้
     

* คำแนะนำ ถ้าหากเทรดที่ต่างประเทศแล้วถือกำไรไว้ เอาเข้ามาปีถัดไป จะไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

 

แต่หากเทรดที่ไทย ตีความรายได้เป็น 3 ทาง ดังนี้

 

  1. กรณีที่เทรด (กำไรจากการแลกเปลี่ยน) สรรพากรตีความว่าคิดตาม Transaction ที่มีกำไร โดยไม่ให้นำขาดทุนที่เกิดขึ้นมาหักออกได้เลย และหากมีการซื้อขายที่กระดานเทรด (Exchange) หากเกิดรายได้ (กำไร) เมื่อไร ก็ถือว่าเป็นรายได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องถอนเงินออกมาเข้าบัญชีธนาคาร
  2. กรณีที่รับผลตอบแทน (ล็อกเหรียญ / Staking) มองเหมือนการได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร ผลตอบแทนต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลด้วยเช่นกัน โดยทั้งข้อ 1 - 2 ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4
  3. กรณีขุด (Mining) จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เหมือนการผลิตสินค้าเพื่อขาย โดยจะเป็นรายได้ ก็ต่อเมื่อมีการขายให้กับทางผู้ซื้อแล้วเท่านั้น และให้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามจริงได้ (ไม่มีสิทธิหักเหมา)
     

* หากผู้จ่ายมีการจ่ายเงินได้ให้ผู้รับเงิน ก็ต้องหักภาษี 15% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่กรมสรรพากรได้เสนอไว้ โดยจะผ่อนปรนการเก็บภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้: การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินหรือกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
  2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย: กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

 

สรุปง่าย ๆ คือ สำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. นั้น กรมสรรพากรจะยังไม่เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงนักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกันได้

 

ตัวอย่างการคิด "ภาษีคริปโต" แบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

เราแลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญดิจิทัลได้กำไรมา 10,000 บาท เราต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน 15% = 10,000 x 15% = 1,500 บาท สรุปได้ว่าจากการซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัลในครั้งนี้ เราจะเหลือกำไรคือ 10,000 - 1,500 = 8,500 บาท และการหักภาษี 15% ตรงนี้ ยังไม่ได้ถือว่าเป็น Final tax เพราะในรอบการยื่นภาษีในรอบปีภาษีใหม่ เรายังต้องนำส่วนแบ่งกำไร หรือกำไรจากการขายเหรียญดิจิทัลมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย หากไม่นำมายื่นอาจมีความผิดในการหลบเลี่ยง หรือแสดงรายการยื่นภาษีไม่ครบ ก็อาจโดนบทลงโทษต่อไป

 

อ่านรายละเอียดการเสียภาษีคริปโต กรมสรรพากร คลิกที่นี่

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่

Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ