"ปรับขึ้นค่าแรง" ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1ต.ค. "สุชาติ" เผย นายจ้าง ยอมรับตัวเลข5%
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน" เผย มติครม. เห็นชอบ "ปรับขึ้นค่าแรง" ทั่วประเทศ เฉลี่ย 5% แบ่งเป็น 9 พื้นที่ ตัวเลขไม่เท่ากัน เชื่อ นายจ้างรับได้
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีการพิจารณา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง "ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" หลังจากไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง หารือกัน โดยมีมติ เห็นชอบ "ขึ้นค่าแรง" เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ต.ค.
ไตรภาคี 3 ฝ่ายมีเอกฉันท์ขึ้น "ค่าแรง" เฉลี่ย 5-8% หลังจากล่าสุดปรับไปเมื่อ 1 มกราคม 2563 และจากนั้นไม่เคยขยับขึ้นอีก
ทั้งนี้การขึ้นค่าแรง ปรับทั่วประเทศ แต่แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ขึ้นทีเดียว 18 บาท ไม่ได้ขึ้น 1-2 บาทเหมือนอดีตที่ผ่านมา
โดยครั้งนี้ได้พูดคุยกับสภาหอการค้าไทยแล้ว ยอมรับในตัวเลขนี้ได้ เพราะขณะนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว และมองว่า การขึ้น "ค่าแรง" เป็นส่วนที่ลูกจ้างได้ แต่ขอให้รัฐบาลดูแล เรื่องพลังงาน อัตราดอกเบี้ย มากกว่า นายสุชาติ กล่าวว่า จริงๆแล้วในส่วนนี้มีกฎหมายดูแลและมีมาตราการต่างๆ เช่น การชดเชย การอุดหนุน จากรัฐบาล เชื่อว่านายจ้างทุกคนรับได้ เพราะขึ้นค่าแรงเพียง 5% เท่านั้น
นอกจากนี้ยังให้สำนักงานประกันสังคม ช่วยนายจ้างปรับลดเงินสมทบ 1-2 เดือน พร้อมชี้แจงผู้ประกันตน ว่าจะไม่กระทบต่อเงินชราภาพ ไม่เกี่ยวข้องกัน