ข่าว

"ยาต้านซึมเศร้า" ช่วยรักษา โรคซึมเศร้า ได้หรือไม่ หลังพบดราม่าจากบทความ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ.เจษฎ์ ช่วยไขข้อสงสัย "ยาต้านซึมเศร้า" ช่วยรักษา "โรคซึมเศร้า" ได้หรือไม่ หลังพบดราม่าจากบทความ รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสาร เซโรโทนิน กับ "โรคซึมเศร้า"

อ.เจษฎ์ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กล่าวถึงกรณีที่มีดราม่าเกิดขึ้นจากบทความของเพจหนึ่ง ที่ชื่อเรื่องว่า "รู้ไหมว่า ยาต้านซึมเศร้า อาจเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อของบริษัทยาเท่านั้น" เข้าใจว่าแนวคิดเรื่อง "ยาต้านซึมเศร้า" เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ นั้น จะอ้างอิงมาจากงานวิจัยใหม่ ที่คัดค้านสมมติฐานที่ว่าสาเหตุหนึ่งของ "โรคซึมเศร้า" นั้นมาจากระดับของ เซโรโทนิน ในสมอง และทำให้มีการถกเถียงตามมาว่า การรับการรักษาโรคด้วยยาต้านภาวะซึมเศร้า นั้นมีผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่

 

แม้ว่าทางเพจจะลบบทความไปแล้ว แต่เนื้อหาที่เผยแพร่ไปนั้น อาจทำให้ผู้ที่กำลังรับการรักษา ภาวะซึมเศร้า เกิดความลังเล สับสน และปฏิเสธการรับการรักษาจากแพทย์ได้

 

ทาง สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เลยโพสต์ชี้แจงออกมา โดยสรุปคร่าวๆ ดังนี้ครับมีรายงานการศึกษาทฤษฏีของสาร serotonin กับ "โรคซึมเศร้า" โดยการศึกษานี้ใช้วิธีการเอาข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ ในอดีต 17 เรื่องที่เกี่ยวกับทฤษฎีเซโรโทนินกับ "โรคซึมเศร้า" มาทบทวนวิเคราะห์ใหม่ (ดูในรูปประกอบ)

 

จากรายงานนี้ สรุปได้ว่า 

- ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสาร serotonin กับ "โรคซึมเศร้า" 

- ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากระดับของ serotonin ที่ต่ำลง

- เป็นไปได้ว่า การใช้ยาแก้ซึมเศร้าระยะยาว อาจทำให้ระดับ serotonin ลดลง

 

ซึ่งทางสมาคมจิตแพทย์ฯ บอกว่า เป็นการศึกษาที่น่าสนใจ จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น "แต่" ไม่ได้แปลว่า การใช้ยา จะไม่มีประโยชน์ในการรักษา "โรคซึมเศร้า"

 

สาเหตุของ "โรคซึมเศร้า" นั้น มีความซับซ้อน และมีหลายปัจจัยส่งผลต่อกัน ไม่ว่าจะ "ปัจจัยทางชีวภาพ" (เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับ genes, การทำงานของสมอง, การทำงานของสารสื่อประสาทต่างๆ เช่น serotonin, dopamine, norepinephine และอื่นๆ) และ "ปัจจัยทางด้านจิตสังคม" (เช่น ความเครียด, 
การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม) 

 

นอกจากการรักษา "โรคซึมเศร้า" ด้วยการใช้ยาแก้ซึมเศร้า (เพื่อไปปรับเปลี่ยนทางด้านชีวภาพแล้ว) ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของยา ยังต้องพึ่งการรักษาด้าน "จิตสังคม" ด้วย เช่น การทำจิตบำบัด ให้คำปรึกษา แก้ปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด เป็นต้น 

 

สรุปว่า แม้จะมีงานวิจัยที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสาร serotonin ในสมองกับ "โรคซึมเศร้า" ก็อย่ารีบด่วนสรุปว่า การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้านั้นไม่มีประโยชน์ครับ


ปล. เนื้อหาอาจจะเข้าใจยากนิด ผมก็พยายามหาวิธีอธิบายง่ายๆ ถึงเรื่องนี้ แต่มันยังไม่ชัดเท่าไหร่ ประมาณว่า มีคนเป็นโรค X ซึ่งมีคนตั้งทฤษฎีว่าอาจจะเกิดจากการขาดสาร Y ซึ่งพอกินยา Y แล้วก็อาการดีขึ้น ด้วยเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมถึงดีขึ้น ซึ่งสาร Y อาจจะไปช่วยในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (แม้ว่าต่อมาจะมีงานวิจัยพบว่า โรค X ไม่ได้สัมพันธ์กับการขาดสาร Y ก็ตาม)

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line : https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote : https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

#คมชัดลึกอวอร์ด #คมชัดลึกลูกทุ่งAwards #คมชัดลึกลูกทุ่ง #คมชัดลึก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ