เฉลิมชัย เดินหน้าแก้ปัญหา "ปุ๋ยแพง" -ขาดแคลน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
รมว.เกษตรฯ เฉลิมชัย เดินหน้าแก้ปัญหา "ปุ๋ยแพง" ปุ๋ยขาดแคลน ขับเคลื่อนมาตรการ 3 ระยะ ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมผสาน ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจาก "ราคาปุ๋ยที่แพง" ปุ๋ยขาดแคลน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลุยแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหา "ปุ๋ยเคมีราคาแพง" และไม่มีเสถียรภาพปี 2565 – 2569 ด้านกรมปศุสัตว์ เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงในรายละเอียดว่า จากสถานการณ์ที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับ "ราคาปุ๋ยที่แพง" ปุ๋ยขาดแคลนและขาดเสถียรภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งปุ๋ยในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออก ปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ได้ชะลอการส่งออก รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น
โดยปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ถึงร้อยละ 98 รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40,000 - 50,000 ล้านบาท
ในเรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาดแคลน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและวางแนวทางการแก้ไขปัญหา
โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ย จากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ดังนี้
มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 299 ศูนย์ พื้นที่ 58 จังหวัด เกษตรกร 52,170 ราย พื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่
การชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิกซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2568 กลไกตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน
โดยเน้นขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ (1) การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” (2) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช/ การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานแก่เกษตรกร (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ)/ปรับปรุงดินให้ pH เหมาะสม
(3)เพิ่มช่องทางการเข้าถึงปุ๋ยและจัดหาปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนอย่างพอเพียงและทั่วถึง(4)พัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ครอบคลุมทุกชนิดพืชเศรษฐกิจที่สําคัญ และการเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซีย (หุ้นส่วนอุตสาหกรรมตามข้อตกลง Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation) ซึ่งเป็นความตกลงพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน
มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง (ระยะเวลา 3 - 5 ปี) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโปแตช และแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โปแตช ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น
และการเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซีย และอื่น ๆ โดยนำ Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementationหรือข้อตกลงอาเซียนหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการเจรจา มาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว
ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพ "ราคาปุ๋ย" เมื่อมีความพร้อมในการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียมแล้ว(หากจำเป็น) เจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ร่วมกับ ประเทศมาเลเซียและจีน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของแม่ปุ๋ยทั้งปริมาณและราคา
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งในนาข้าว พืชสวน พืชไร่ ในการบำรุงดิน การรองพื้นในหลุมปลูกซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้ในการผลิตพืชในครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและลดต้นทุนการผลิตได้
และจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของปริมาณมูลสัตว์แห้งจากฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณรวมปีละกว่า 27 ล้านตัน โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการนำเอามูลสัตว์ไปผลิตเป็นปุ๋ยคอก ทั้งในรูปแบบผง อัดเม็ด และแบบน้ำเพื่อนำไปใช้เองและจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไปในภาคการเกษตร และเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตามในการใช้ปุ๋ยคอก ควรต้องได้รับการแนะนำ วิธีการบริหารจัดการ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพืชและปุ๋ยโดยตรง
ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการจัดการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมร่วมกับหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้ การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยแนวทางต่าง ๆ
อาทิ การพัฒนาคุณภาพดินตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง โดยมีการเก็บตัวอย่างดิน นำมาตรวจวิเคราะห์สมบัติทางเคมี ประเมินผลให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนแจกผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ กรมพัฒนาที่ดินให้เกษตรกรได้นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และต่อยอดขยายผลการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์โดยมีกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินทำการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่าง ๆ พัฒนาและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ
ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำและปุ๋ยพืชสด ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอซังพืช ป้องกันปัญหาหมอกควันและลดสภาวะโลกร้อน
รวมทั้งผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ในครั้งนี้
รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform 1 สิงหาคม นี้