ข่าว

ดร.อนันต์ แจง การเกิด ตุ่มหนอง "ฝีดาษลิง" ในผู้ป่วย พบมีความเข้าใจผิดเยอะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ฝีดาษลิง" การเกิด ตุ่มหนอง ใน "ผู้ป่วยฝีดาษลิง" ดร.อนันต์ ระบุ สามารถเกิดได้หลายส่วน ไม่ใช่แค่ส่วนที่สัมผัสเชื้อ พบมีความเข้าใจผิดกันเยอะ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana ว่า ความเข้าใจผิดข้อหนึ่งเกี่ยวกับการเกิดแผลของ "ฝีดาษลิง" หรือ ตุ่มหนองของ ผู้ป่วยฝีดาษลิง เกิดจากการสัมผัสกับไวรัสที่บริเวณที่เกิดตุ่มหนองนั้นโดยตรง เช่น แผลที่บริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ ในปาก ไม่ได้หมายความว่าส่วนของร่างกายบริเวณนั้นสัมผัสกับเชื้อมาก่อน การเกิดตุ่มหนองของ ผู้ป่วยฝีดาษลิง สามารถเกิดได้ในหลายส่วนของร่างกาย

 

หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือ ผ่านทางละอองฝอยที่มีไวรัสเจือปนอยู่ เซลล์บริเวณนั้นจะสามารถเพิ่มจำนวนไวรัสได้บ้างแต่เป็นปริมาณที่น้อยจนไม่สามารถตรวจวัดได้ ไวรัสที่ได้รับเข้ามาจะถูกส่งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และ อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และ ม้าม ทางกระแสเลือด เป็นช่วงแรกที่ไวรัสอยู่ในกระแสเลือด (primary viremia) ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณไวรัสมีไม่มาก เพราะไวรัสไม่ได้เพิ่มจำนวนในกระแสเลือดจึงตรวจพบไวรัสได้ยาก เป็นช่วงที่เราเรียกว่า Incubation period หรือ ระยะฟักตัว กินเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-9 วัน และ อาจยาวถึง 17 วัน เนื่องจากระยะนี้ปริมาณไวรัสในร่างกายมีน้อยมาก ร่างกายไม่มีอาการใดๆ จึงเชื่อว่า "ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครได้"

 

หลังจากที่ไวรัสส่งต่อผ่านทางกระแสเลือดไปยังต่อมน้ำเหลือง ม้าม ตับ หรือ ไต ไวรัสจะเริ่มมีการเพิ่มจำนวนของอนุภาคมากขึ้น ซึ่งร่างกายโดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มจับสัญญาณกระบวนการดังกล่าวได้ ร่างกายจะเริ่มมีการต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสเหล่านั้น ด้วยอาการต่างๆ เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งระยะนี้จะเป็นระยะที่เรียกว่า Prodomal period กินเวลาประมาณ 3-4 วัน และ เนื่องจากไวรัสมีการเพิ่มปริมาณขึ้นแล้ว มีโอกาสที่จะตรวจวัดได้จากตัวอย่างเช่น เลือด น้ำลาย และ เชื่อว่าปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้

 

เมื่อไวรัสมีปริมาณมากขึ้น ไวรัสจะส่งผ่านกระแสเลือดอีกครั้ง (secondary viremia) ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าครั้งแรกมาก และ ไวรัสสามารถส่งผ่านกระแสเลือดไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผิวหนัง เชื่อว่า ไวรัสสามารถติดเชื้อที่เซลล์ของหลอดเลือดในผิวหนังส่วนหนังแท้ (Dermis) ทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์หลอดเลือด และ การอักเสบเกิดขึ้น และ แพร่ไปต่อที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ทำให้มีอาการของตุ่มหนองเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนอยู่เป็นปริมาณมาก จึงเป็นแหล่งของไวรัสที่สามารถแพร่กระจายต่อ ระยะที่มีตุ่มแผลเกิดขึ้นเรีกว่า Rash period ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยลักษณะของตุ่มแผลก็แบ่งไประยะๆ ได้ตามลักษณะของแผลและอาการ แต่เชื่อว่าไวรัสจะหมดไปจากแผลเมื่อแผลหายสนิทแล้วหลังจากระยะ Scabs 

 

จะเห็นชัดว่า การเกิดตุ่มหนองบนผิวหนังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่จุดแรกที่ร่างกายรับเชื้อเข้ามา ทำไมไวรัสถึงไปที่จุดต่างๆของร่างกาย ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ครับ

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line : https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

รอลุ้น ใครจะเป็น 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 

1 สิงหาคม 65 นี้ รู้กัน 

( https://awards.komchadluek.net/# )
#ลูกทุ่งอวอร์ด65  #ลูกทุ่งAwards65 #คมชัดลึกลูกทุ่งอวอร์ด65 #คมชัดลึกลูกทุ่งAwards65 #โหวตคมชัดลึกลูกทุ่งAwards #โหวตคมชัดลึกลูกทุ่งอวอร์ด65 #รางวัลคมชัดลึกลูกทุ่งอวอร์ด2565 #รางวัลคมชัดลึกลูกทุ่งawords65

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ